ซูเปอร์โพลรอบ 6-7 ดับฝัน ‘เพื่อไทย’ แลนด์สไลด์

ผลซูเปอร์โพลรอบ 6-7 ชัด 37.4 ล้านคนไปเลือกตั้ง โหวต ‘อนุทิน-พิธา’ สูสีนั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ดับฝัน ‘เพื่อไทย’ แลนด์สไลด์

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 แล้ว แต่ละพรรคการเมืองต่างงัดไม้เด็ด หงายไพ่ใบสุดท้าย เพื่อดึงคะแนนนิยมจากพรรคคู่แข่งมาเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยวันเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.66 และเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พ.ค.66 นี้

ดังนั้น ไม่ว่าโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสำนักไหน จะต้องออกมารัวๆ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้ว่า

ผู้ใดเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลา 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งข้อมูลจาก สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้งและผลการประมาณการจำนวน 100 ที่นั่งผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส.ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศ

รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น 14,332 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค.66 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบ 5% ในช่วงความเชื่อมั่น 95%

เมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือ 75.3% หรือประมาณการ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ 24.7% หรือ ประมาณการจำนวน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 400 ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย ยังคงครองภาคอีสานและภาคเหนือ

โดยภาคอีสาน ได้จำนวน ส.ส.เขต ทั้งสิ้น 57 ที่นั่งหรือ 42.8% และภาคเหนือ 24 ที่นั่งหรือ 64.9% ภาคกลาง จำนวน 18 ที่นั่งหรือ 20.2% กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ที่นั่งหรือ 24.2% ภาคตะวันออก จำนวน 4 ที่นั่งหรือ 13.8% ภาคตะวันตก จำนวน 1 ที่นั่งหรือ 5% รวมจำนวนทั้งสิ้น 111 ที่นั่งหรือ 27.7%

ที่น่าพิจารณาคือ พรรคภูมิใจไทย โดยภาพของจำนวนที่นั่ง ส.ส.กระจายไปในทุกกลุ่มจังหวัดของแต่ละภาค ดังนี้ ภาคอีสาน จำนวน 36 ที่นั่งหรือ 27.1% ภาคกลางจำนวน 26 ที่นั่งหรือ 29.2% ภาคตะวันตกและภาคใต้จำนวนภาคละ 10 ที่นั่งหรือ 50% และร้อยละ 16.9 ภาคตะวันออกจำนวน 6 ที่นั่งหรือ 20.7% ภาคเหนือจำนวน 5 ที่นั่งหรือ 13.5% และกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ที่นั่งหรือ 24.2% รวมจำนวนทั้งสิ้น 96 ที่นั่งหรือ 24%

ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ภาคกลางจำนวน 17 ที่นั่งหรือ 19.1% ภาคอีสานจำนวน 10 ที่นั่งหรือ 7.5% ภาคตะวันออกจำนวน 8 ที่นั่งหรือ 27.6% ภาคใต้จำนวน 7 ที่นั่งหรือ 11.9% ภาคเหนือ จำนวน 6 ที่นั่งหรือ 16.2% ภาคตะวันตกจำนวน 3 ที่นั่งหรือ 15% และกรุงเทพมหานครจำนวน 2 ที่นั่งหรือ 6.1% รวมจำนวนทั้งสิ้น 53 ที่นั่งหรือ 13.3%

และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ภาคใต้จำนวน 28 ที่นั่งหรือ 47.5% ภาคตะวันออกจำนวน 7 ที่นั่ง 24.1% กรุงเทพมหานครจำนวน 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 9.1 ภาคอีสานและภาคตะวันตก จำนวนอย่างละ 2 ที่นั่งหรือ 1.5% และร้อยละ 10% ภาคเหนือจำนวน 1 ที่นั่งหรือ 2.7% รวมจำนวนทั้งสิ้น 44 ที่นั่งหรือ 11%

นอกจากนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ภาคกลางจำนวน 13 ที่นั่งหรือ 14.6% ภาคใต้จำนวน 9 ที่นั่งหรือ 15.3% กรุงเทพมหานครจำนวน 6 ที่นั่งหรือ 18.2% ภาคตะวันตกจำนวน 3 ที่นั่งหรือ 15% ภาคตะวันออกจำนวน 2 ที่นั่งหรือ 6.9% ภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนอย่างละ 1 ที่นั่งหรือ 2.7% และ 0.8% รวมจำนวนทั้งสิ้น 35 ที่นั่งหรือ 8.7%

ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ภาคอีสาน จำนวน 23 ที่นั่งหรือ 17.3% กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 ที่นั่งหรือ 3% ภาคกลาง จำนวน 5 ที่นั่งหรือ 5.6% และภาคตะวันออก จำนวน 2 ที่นั่งหรือ 6.9% รวมจำนวนทั้งสิ้น 40 ที่นั่งหรือ 10%

และพรรคอื่นๆ ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งภาคกลางจำนวน 9 ที่นั่งหรือ 10.2% ภาคใต้ จำนวน 5 ที่นั่งหรือ 8.4% ภาคอีสานจำนวน 4 ที่นั่งหรือ 3% กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ที่นั่งหรือ 15.2% และภาคตะวันตกจำนวน 1 ที่นั่งหรือ 5% รวมจำนวนทั้งสิ้น 21 ที่นั่งหรือ 5.3%

เมื่อนำผลการประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกับ จำนวนที่นั่งของ ส.ส.เขตเลือกตั้ง พบว่า

พรรคเพื่อไทย ได้จำนวน 139 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 114 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 164 ที่นั่ง รองลงมา คือ ภูมิใจไทยได้จำนวน 112 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 87 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 137 ที่นั่ง อันดับ 3 ก้าวไกล ได้จำนวน 63 ที่นั่งจำนวนต่ำสุด 38 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 88 ที่นั่ง

อันดับ 4 พลังประชารัฐ ได้จำนวน 61 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 36 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 86 ที่นั่ง อันดับ 5 ประชาธิปัตย์ ได้จำนวน 49 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 24 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 74 ที่นั่ง อันดับ 6 รวมไทยสร้างชาติ ได้จำนวน 46 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 21 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 71 ที่นั่งอันดับ 7 พรรคอื่นๆ ได้จำนวน 30 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 5 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 55 ที่นั่ง

ขณะที่ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ในพื้นที่ภาคอีสานพรรคก้าวไกลมาแรงเช่นกันและทำให้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตของพรรคก้าวไกลมีโอกาสสูงที่จะได้เพิ่ม ทั้งในอีสานและกรุงเทพมหานคร โดยส่วนของพรรคเพื่อไทยมีจำนวนลดลงแต่พรรคเพื่อไทยยังมีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนส.ส.เขตมากที่สุดในภาคอีสานและภาคเหนือ เพราะคนรุ่นใหม่ชอบนโยบายและต้องการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า เสียงกลุ่มอีกขั้วหนึ่งหรือที่ถูกเรียกว่า เป็นขั้วอนุรักษ์นิยมไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก โดยภูมิใจไทย มาที่สองรองจากเพื่อไทย เพราะภาพลักษณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่สู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อยอีกทั้งนโยบายกัญชา ทางการแพทย์มากขึ้น นโยบายผู้สูงอายุโดนใจกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ รวมถึงประชาธิปัตย์นั้นคะแนนยังนำในภาคใต้ และในช่วงสุดท้ายที่แรงเหวี่ยงจากนโยบาย ความเป็นสถาบันการเมืองรวมทั้งภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นไปได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น

ส่วน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า วันนี้กระแสพรรคก้าวไกล ที่มาแรงขึ้นมาใน 2 สัปดาห์สุดท้าย เป็นการบอกชัดเจนว่ากระแสมีความสำคัญ ดังนั้น ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเมือง เพื่อดึงคะแนนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค.มีโอกาสที่ขั้วอนุรักษ์นิยมแพ้สูง คือ ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนโอกาสที่เพื่อไทยแลนด์สไลด์เป็นไปไม่ได้

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งถ้ากระแสยังเป็นแบบนี้ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย นำโดยเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยมีก้าวไกล ประชาชาติเข้าร่วม แต่เชื่อว่าสูตรนี้จะมีโอกาสทำให้ก้าวไกลขี่คอเพื่อไทยเลือกกระทรวงสำคัญแน่นอน ดังนั้น ให้จับตาสัปดาห์สุดท้ายพรรคการเมืองต่างๆ จะปล่อยกระสุนและคีย์เมสเสจออกมาถูกต้อง ทำให้มีผลต่อกระแสการเมืองเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

ขณะเดียวที่ โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) จากสำนักวิจัยซูเปอร์โพลเช่นกัน  เสนอผลการศึกษากรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขา อาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ จำนวนตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ 2,324 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-30 เม.ย.66 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบ 5% ในช่วงความเชื่อมั่น 95% พบว่า

เมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ พบแนวโน้มคนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจาก 70.8% ในช่วงสัปดาห์ก่อน ขึ้นเป็น 73.2% ในการสำรวจล่าสุดสัปดาห์นี้ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของผู้นำการเมืองที่เชื่อว่าจะมีผลงานแก้วิกฤต ดูแลสุขภาพ สวัสดิการกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า

อันดับแรกหรือ 30.2% ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อันดับสองหรือ 27.3% ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับสามหรือ 27.2% เท่าๆ กันกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับสี่หรือ 24.4% ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และอันดับห้า หรือ 23.3% ระบุเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตามลำดับ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ต้องการเห็นร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง พบว่า 40.6% ระบุ พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และอื่นๆ รองลงมาคือ 30.2% ระบุ พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และอื่น ๆ 12.3% ระบุ พรรคภูมิใจไทย เพื่อไทย และอื่นๆ 5.1% ระบุ พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอื่นๆ และ 11.8% ระบุอื่นๆ เช่น พรรคอะไรก็ได้ ไม่ระบุ

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรก ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับหนึ่งได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล 22% ทิ้งห่างไม่ถึง 1% จากอันดับสอง ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 21.5% อันดับสามได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 18.8% อันดับสี่ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 16.1% และอันดับห้า ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 11.1% ตามลำดับ

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีกระแสความนิยมสนับสนุนสูสีแบบหายใจรดต้นคอไม่แตกต่างกัน อาจเป็นเพราะทั้งสองท่านนี้อยู่ในกระแสของความต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งคู่

แต่ต่างกันตรงที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อาจจะอยู่ในซีกของการเปลี่ยนแปลงเชิงอนุรักษ์นิยม แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะอยู่ในซีกเปลี่ยนแปลงเชิงเสรีนิยม จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไรในวันเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ว่าจะเทคะแนนของตนเองไปในทิศทางใด

ต้องรอการพิสูจน์อีกครั้งว่า ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะชี้ชะตาประเทศอีก 4 ปีข้างหน้าไปในทิศทางไหน เรามาลุ้นไปพร้อมกัน อีกไม่กี่อึดใจ

คลิปอีจันแนะนำ
การเมืองแบบคนรุ่นใหม่ สไตล์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์