แล้งสาหัส ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉิน 20 จังหวัด

101 อำเภอ เหนือ อีสาน ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปัจจุบัน มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือภัยแล้งแล้ว 20 จังหวัด 101 อำเภอ 559 ตำบล 4,781 หมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ จังหวัด เชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย สุพรรณบุรี พะเยา และจังหวัดสกลนคร

ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทย ยังได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ดังนี้ ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ภาพจากอีจัน

ให้สำรวจ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรับมือ อาทิ การจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ขาดแคลนน้ำดิบ การขุดขยายสระพักน้ำดิบ เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงการสูบส่งน้ำ จากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบการผลิตน้ำประปา และให้กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่นำร่อง การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) ชั่วคราว ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร ตลอดจนการพิจารณาจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำที่กักเก็บให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์

ภาพจากอีจัน
ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ โดยขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำการปิดกั้นลำน้ำ หรือสูบน้ำเข้าพื้นที่การเพาะปลูก ตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวยเพื่อกักเก็บน้ำ ในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เฝ้าระวัง และควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และให้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางคมนาคมที่มีแนวติดคลองลำน้ำ หรือแม่น้ำต่าง ๆ ในการสำรวจ และกำหนดมาตรการรองรับกรณีการพังทลายของตลิ่ง รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ และทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วม ในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่า