นักวิทย์ไทย รู้อนาคต วางแผนแก้ปัญหา หญ้าทะเล มานานกว่า 10 ปี

วิกฤติ หญ้าทะเล กำลังเริ่มส่งผลชัดขึ้น หลังมี พะยูน เกยตื้นตาย จ.ตรัง ดร.ธรณ์ บอกว่า นักวิทย์ไทย รู้อนาคต วางแผนแก้ปัญหา มานานกว่า 10 ปีแล้ว

สืบเนื่องจากเรื่องน่าสลดใจ ที่มีพะยูนมาเกยตื้นตาย ตรงท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง จ.ตรัง ทำให้หลายฝ่ายมานั่งขบคิดกันว่า พะยูนกำลังขาดแคลนอาหารอยู่หรือไม่

อาหารหลักของพะยูนคือหญ้าทะเล ซึ่งปัจจุบันเริ่มน้อยลงไปจนแทบจะเรียกว่า วิกฤติ ได้แล้ว หลายๆหน่วยงานเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วครับ ข้อนี้ยืนยันโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเลและสิ่งแวดล้อม ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับวิกฤติดังกล่าวไว้ว่า

“นักวิทยาศาสตร์รู้อยู่แล้วว่าหญ้าทะเลจะมีปัญหาจากโลกร้อน เราเตรียมการไว้ก่อนหน้า จึงนำ 10 ปีงานหญ้าทะเล “ยุคใหม่” ของคณะประมง มาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง
ผมใช้คำว่ายุคใหม่ เพราะงานหญ้าทะเลไทยเริ่มตั้งแต่สมัย ศาสตราจารย์กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์ ตั้งแต่ 40 ปีก่อน อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกโดยแท้

ขอบคุณภาพ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ

ยุคใหม่ในที่นี้จึงหมายถึงยุคที่เรารู้ว่าหญ้าทะเลมีปัญหาหนัก ทั้งจากมนุษย์และจากโลกร้อน เราจึงปรับงานเตรียมสู้ ไม่ใช่แค่แยกชนิดหญ้า สำรวจดูความสมบูรณ์ดูกุ้งหอยปูปลา แต่เราเพิ่มงานด้านการฟื้นฟูหญ้าทะเล

ขอบคุณภาพ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

งานแรก ที่ทำมานานหลายปี เป็นของ “อ.ชัชรีและทีมวิจัย” เป้าหมายคือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ ปลูกจากเมล็ดอาจได้ไม่กี่ต้น แต่เพาะเนื้อเยื่อ 1 เมล็ดอาจได้ถึง 300 ต้น (เราไม่ขุดจากธรรมชาติมาแบ่งกอ) ปัจจุบัน เราประสบความสำเร็จแล้ว จดลิขสิทธิ์แล้วด้วย เหลือแต่การปรับวิธีให้เสถียรมากยิ่งขึ้น

งานสอง คือตั้งหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน สร้างโรงเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลแห่งแรกของไทย อยู่ที่สถานีวิจัยศรีราชา ด้วยโรงนี้ เราเพิ่มศักยภาพผลิตต้นกล้าหญ้าทะเลเพิ่มได้เป็นพันๆ ต้นต่อปี และสามารถยืดเวลาเลี้ยงต้นกล้าให้รอดนานขึ้นและสมบูรณ์มากขึ้น เรายังได้ต้นกล้าปลอดเชื้อ จำเป็นมากต่อการศึกษาโรคหญ้าทะเลที่คณะประมงกำลังทำอยู่ มีหลายคนไปดูงานที่หน่วยวิจัย ผมเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังบ่อยครั้ง รวมถึงการวางแผนสร้างโรงสองในพื้นที่อื่น (กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง)


งานสาม คือการสำรวจเพื่อฟื้นฟู ทำต่อกันมาหลายปี ผมเน้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยกับภาคตะวันออก สำรวจแบบละเอียดยิบทั้งดาวเทียม โดรน ภาคสนาม ดำน้ำ ฯลฯ เราสามารถสร้างแผนที่เลเยอร์ของหญ้า ตะกอนสะสม พื้นที่เหมาะสมต่อการปลูก ฯลฯ แผนที่พวกนี้มีประโยชน์สุดๆ ต่อการติดตามความเปลี่ยนแปลงจากวิกฤตหญ้าทะเลในตอนนี้

ขอบคุณภาพ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ


งานสี่ คือทดลองปลูก ไม่ใช่เพื่อเพิ่มปริมาณหญ้า แต่เป็นงานวิจัยเพื่อปรับวิธีให้เหมาะสมที่สุด เช่น เพาะเมล็ด/เนื้อเยื่อ อายุต้นกล้า จุดที่ปลูก อุปสรรค ฯลฯ ทำมาหลายปีแล้วอีกเช่นกัน และยังต้องทำต่อเนื่อง (เดี๋ยวผมก็ลงพื้นที่ครับ)

ทั้งหมดนี้เพื่อบอกว่า เราไม่ใช่แค่เตือนล่วงหน้ามาหลายปี เรายังพยายามทำล่วงหน้าเช่นกัน เป็นงานแสนสาหัส แม้แต่โรงเพาะหญ้าก็ใช้เงินนักวิจัยหยอดกระปุกเอามาสร้าง

ขอบคุณภาพ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

จึงขอขอบคุณ ปตท.สผ. และ บางจาก ที่เชื่อเราว่าจะเกิดวิกฤตแน่ และสนับสนุนงานวิจัยด้านนี้มาตลอดหลายปี ตั้งแต่ยังไม่มีข่าวไม่มีประเด็น
ขอบคุณเพื่อนธรณ์ที่ช่วยทุกครั้งที่บอก เก็บเล็กผสมน้อยจนมาเป็นงานในวันนี้
คำถามว่าเรารับมืออย่างไรกับโลกร้อนฆ่าหญ้าทะเล ตอบด้วยภาพของจริงที่นำมาโชว์เพื่อนธรณ์ เราจึงไม่ได้ทำแค่พูด มีแค่งานวิจัย เรามีสิ่งที่มองเห็นด้วยสายตาและนำมาใช้ประโยชน์ได้ครับ

ขอบคุณภาพ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ

นี่คือสิ่งที่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทย รับรู้และวางแผนแก้ไขกันมานานมากแล้ว แต่ทุกอย่างมันยังต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณ และต้องขอความร่วมมือคนไทยด้วยกัน ให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้ไว้ ไม่ให้หมดไปเร็วกว่าการวิจัยจะสำเร็จด้วยนะครับ


คลิปอีจันแนะนำ

ปริศนาข้ามประเทศ! 2 ช้างป่า ว่ายน้ำข้ามโขง