ไทม์ไลน์หมุดปริศนา ส.ป.ก.4-01 ล้ำเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่?

ไล่เรียงไทม์ไลน์หมุดปริศนา ส.ป.ก.4-01 ล้ำเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่? ร่วมตรวจสอบการออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01

ร่วมตรวจสอบ! การออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ล้ำในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หรือไม่?

การสืบหาความจริงหมุด ส.ป.ก. 4-01 ปริศนา

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้ล่าสุดจะมีกระแสข่าวเจ้ากระทรวงทั้ง 2 แห่ง นัดเคลียร์กันแล้ว

ไล่เรียงไทม์ไลน์ได้ ดังนี้

เรื่องเริ่มจากพบการเปิดป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งมรดกโลก โดยวันที่ 6 ม.ค. 67 เจ้าหน้าที่อุทยานฯเขาใหญ่ตรวจพบพื้นที่บุกรุกแผ้วถางป่าประมาณ 3 ไร่ กำลังปรับดินปลูกต้นมะม่วง 22 ตรวจสอบพื้นที่เจอหลักหมุด ส.ป.ก. 3 หมุด แต่ไม่พบคนกระทำผิด เจ้าหน้าที่จึงติดกล้องดักสักสัตว์จับภาพเคลื่อนไหวปรากฏว่า 3 วันต่อมา มีคน 5 คน เข้ามารดน้ำต้นมะม่วง จึงแสดงตัวเข้าจับกุม แต่ชายทั้ง 5 อ้างว่าที่ดินนี้ได้มาถูกต้องตามกฎหมายเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ซึ่ง 1 ในนั้น แสดงตัวเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อุทยานงงมากว่า มีหมุดของ ส.ป.ก. มาปักในเขตอุทยานได้อย่างไร!!!

เรื่อง ส.ป.ก.4-01 เริ่มร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ

วันที่ 13 ก.พ.67

ช่วงบ่าย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เข้าไปฉะ ส.ป.ก.โคราช กลางที่ประชุม ณ ศาลากลาง จ.นครราชสีมา ถามชัดๆ ถึงเหตุที่มีหมุด ส.ป.ก. มาโผล่ในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ โดยไม่มาสอบถาม ถามไปก็ไม่ตอบ ไปเอาคนไหนมาถือสิทธิ์ในเขตป่า พร้อมโชว์แผนที่ตีแปลงสีเขียวทับเขตป่าสมบูรณ์ให้ดูกันชัดๆ ซึ่ง ทางจีรศักดิ์ นายช่างรังวัด ก็พยายามอธิบายว่า มันเป็นมติของ ครม.ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกร โดยส.ป.ก. เป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็ตอบไม่ได้ว่า หมุดที่นายชัยวัฒน์ ถอนมานั้น ช่างคนไหนไปปัก ณ จุดใด รุกป่าหรือไม่ ขอสอบสวนก่อน

และนี่คือที่มาขอคำว่า “ผมอยากมีเรื่อง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ต่อมา วันที่ 15 ก.พ.67

กรณีพิพาท “จุดหมุดปริศนา ส.ป.ก.” ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นที่จับตาของสังคมทันที โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพิพาท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยระบุว่า เราจะไปใช้ความรู้สึกไม่ได้ ต้องทำตามกฎหมาย เอากฎหมายเป็นหลัก ไม่งั้นทะเลาะกันตาย กฎหมายของแต่ละกระทรวงก็ต้องยึดของแต่ละกระทรวง แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกันต้องยึดหลักกฎหมาย จะทำอะไรห้ามใช้อารมณ์ จะไปถอดหมุดไม่ได้ ทรัพย์สินของหลวงของทางราชการเหมือนกัน ต้องคุยกัน ถ้ายังไม่สรุปอย่าไปออกโซเชียล มันเสียหายถึงรัฐบาล

วันที่ 18 ก.พ. 2567

ลงพื้นที่ตรวจหาข้อเท็จจริง!

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลโท ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการรับมอบพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง และนายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

การตรวจสอบในพื้นที่พบหลักหมุดของ ส.ป.ก.พื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง ที่ดำเนินการปลูกและบำรุงมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งได้มีการส่งมอบให้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว สภาพพื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ พบไม้สีเสียดแก่นขนาดใหญ่ที่หน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคองเป็นผู้ดำเนินการปลูก พบร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า เช่น ช้าง กระทิง เก้ง กวาง มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ชัดเจน ไม่สามารถจะนำไปจัดผังแปลง ส.ป.ก. ได้

แต่กลับพบมีการฝังหมุดหลัก ส.ป.ก. จำนวน 6 หมุด!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ดังนั้น กรมอุทยานฯ จึงขอให้ ส.ป.ก. ดำเนินการถอนหลักหมุดออกจากพื้นที่ โดยพื้นที่ดังกล่าวทางสำนักอุทยานแห่งชาติพิจารณาแล้วว่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำแนวเขตแสดงขอบเขตพื้นที่และขยายให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้ ทาง ส.ป.ก. ยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ได้รับการจำแนกและรับมอบมาจากกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อปี 2527 และออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อปี 2534 จึงดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 และจัดรูปแปลงในบริเวณดังกล่าว โดยกรมแผนที่ทหารเองก็ยังไม่สามารถตัดสินได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานใด แต่ยังคงยืนยันในหลักการคือการใช้แผนที่เป็นหลัก พร้อมทั้งขอเวลาในการตรวจสอบประมาณ 2 สัปดาห์

ซึ่งนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ไม่ยอมรับในแนวคิดดังกล่าว และมีความเห็นว่าจากการที่กรมแผนที่ทหารจะเข้ามายืนยันว่าพื้นที่เป็นของหน่วยงานใดก็จะเป็นไปตามหลักฐานแผนที่แสดงแนวเขตของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้

นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่าในการลงตรวจสอบพื้นที่ครั้งนี้จะได้ดำเนินการตรวจสอบในกระบวนการต่าง ๆ ของการออกเอกสาร ส.ป.ก. ว่าออกโดยชอบหรือมิชอบ แต่ต้องมีข้อสรุปร่วมกันก่อนว่าพื้นที่เป็นของหน่วยงานใดและพร้อมจะดำเนินการเต็มที่ โดยในส่วนการดำเนินการของ ส.ป.ก. จะดำเนินการหยุดทั้งหมดทั้งในส่วนของผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไปแล้วก็จะไม่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จนกว่าจะได้ข้อยุติร่วมกัน

และมีข้อคิดเห็นในกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.กรมอุทยานฯ และ ส.ป.ก. ถือแผนที่คนละฉบับ ในประเด็นนี้ให้รอทางกรมแผนที่ทหารดำเนินการตรวจสอบก่อน และในระยะยาวให้นำข้อมูลตามที่มีการถกเถียงกันเข้าในคณะกรรมการต่อไป

2.โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นส่วนที่ต่อยอดมาจากเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เพื่อให้มีสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยยังคงคำว่าต้องเป็นพี่น้องเกษตรกรเท่านั้น แต่หากพบมีการเปลี่ยนมือหรือผู้ครอบครองไม่ใช่เกษตรกร ก็จะมีการเพิกถอนสิทธิรวมถึงดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไม่ได้มีสิทธิตามระเบียบและกฎหมายของ ส.ป.ก.

3.หากมีประเด็นปัญหาเช่นเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ขอให้แจ้งข้อมูลในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเขาใหญ่ ที่ออกมาประกาศรวมพลังปกป้องผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 

ขณะที่คณะเจ้าหน้าที่กำลังจะเดินทางกลับจากการสำรวจหมุดปริศนา ปรากฏพบช้างป่าตัวใหญ่ เพศผู้ หางด้วน โดยเจ้าหน้าที่ตั้งชื่อว่า “ไอ้ด้วน” กำลังออกหากินในบริเวณพื้นที่ที่มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 โดยไม่มีทีท่าว่าจะดุร้าย กลับตวัดยอดไม้กินอย่างสบายใจ และเดินผ่านคณะเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปโดยไม่ทำลายผู้ใด และกลับเข้าป่าไปในที่สุด ซึ่งการออกมาแสดงตัวของช้างตัวนี้อาจเป็นการแสดงตัวว่า

นี่คือบ้านของเค้า เค้าคือเจ้าของบ้านตัวจริง และจะเห็นได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด หากมีการนำพื้นที่ไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ก็จะทำให้สัตว์ป่าสูญเสียพื้นที่ในการหากิน และส่งผลกระทบต่อประชาชนในปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ป่าออกหากินในพื้นที่ของประชาชนได้ต่อไป 

ด้าน ผอ.สอช. อธิบายกระบวนการและลักษณะการออก ส.ป.ก. รุกล้ำเข้ามาในเขตอุทยานฯ และพื้นที่สวนป่าเดิมหรือไม่ ว่า ป่าเสื่อมโทรมที่จะเป็นสภาพที่ให้เกษตรให้กับราษฎรทำกินได้ก็จะจัดสรรให้ แต่ถ้าเป็นที่เสื่อมโทรม ป่าเสื่อมโทรมไม่เหมาะสมกับการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่สามารถให้เกษตรกรปลูกผักได้ก็ไม่ควรจัดสรรให้ ถ้าตีความว่าป่าเสื่อมโทรมแล้วต้องจัดสรรไม่ใช่ ต้องดูว่าเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ช้างป่า กระทิงหรือไม่

การตรวจสอบในพื้นที่พบหลักหมุดของ ส.ป.ก. ในพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง ที่ดำเนินการปลูกและบำรุงมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งได้มีการส่งมอบให้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว สภาพพื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ และพบร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า

ด้านที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ดำเนินการตรวจสอบในกระบวนการต่าง ๆ ของการออกเอกสาร ส.ป.ก. ว่าออกโดยชอบหรือมิชอบ ยืนยันจะดำเนินการหยุดทั้งหมดทั้งในส่วนของผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไปแล้วก็จะไม่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จนกว่าจะได้ข้อยุติร่วมกัน

ขณะที่ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปี 2505 หลักหินขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยม ปักในช่วงที่ยังไม่ได้แยกกรมอุทยานฯ ออกจากกรมป่าไม้ ลักษณะคล้ายหลักกิโลเมตร กว้างประมาณ 40 ซม. สูงประมาณ 80 ซม. แสดงข้อความว่า “กปม. กม.” มีการวางฐานรากเทคอนกรีตเสริมเหล็กไว้อย่างถาวร โดยสามารถยืนยันได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้มาก่อน

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ส.ป.ก. อธิบายหลักการจำแนกที่ดินที่ได้รับจากกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมมอบเอกสารแผนที่ให้กับกรมแผนที่ทหารเพื่อนำไปพิจารณา 2 สัปดาห์ตามขั้นตอนการทำงาน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทรศัพท์มาให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมอุทยานฯ โดยให้แนวทางในการปฏิบัติว่า จะต้องยึดหลักความถูกต้อง สิ่งใดที่เป็นความถูกต้อง สิ่งใดที่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบในเรื่องของการสำรวจรังวัดที่ดิน การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ครอบครอง รวมไปถึงการทำประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ ปปช. ที่จะต้องแสวงหาหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ

วันที่ 20 ก.พ.67

เลขาฯ ส.ป.ก.เด้งฟ้าผ่า 6 ส.ป.ก.โคราช เซ่นปมหมุดนิรนาม ส.ป.ก.นิรนามรุกป่าเขาใหญ่

นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  ได้มีหนังสือคำสั่งด่วนที่สุด สั่งให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา 6 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทันที และให้มารายงานตัวที่ส่วนกลาง เพื่อให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างโปร่งใส

โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้น มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน หากพบว่ามีการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับชาวบ้านหรือนายทุน ไม่เป็นไปตามระเบียบ จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงทันที และจะดำเนินคดีตามมาตรา 157 อย่างเด็ดขาด ยืนยันเรื่องนี้เอาจริง ไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ธรรมนัส-พัชรวาท-ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ”ปมที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่

พล.ต.อ. พัชรวาท​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทต่อการออกเอกสารสิทธิ์​ จุดหมุดนิรนาม ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในที่ดิน​ ส.ป.ก.เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง​ จังหวัดนครราชสีมา ว่า มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง​ หลักกฎหมายเป็นหลัก ส่วนกรณีที่ ชัยวัฒน์​ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช​ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง​จ้องฮุบพื้นที่ดังกล่าว ก็ต้องไปถามเขาต้องเอาข้อเท็จจริงมาประกอบ และคิดว่าหลังการพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส​ ก็คงรู้เรื่องเพราะเป็น​พรรคเดียวกันอยู่แล้ว​

ด้าน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากทราบว่ามีประเด็นข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาบนที่ดินที่เขาใหญ่ กับเจ้าหน้าที่อุทยานในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่เพื่อไปเคลียร์ปัญหาไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด และระดับกรมมีปัญหาทะเลาะกัน ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ พล.ต.อ. พัชรวาท ซึ่งผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีไม่ได้มีปัญหากัน

ส่วนปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของ 2 กระทรวง ต้องทำความเข้าใจว่าในอดีตเป็นการกำกับดูแลภายใต้กระทรวงเดียวคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่พอมีการแยกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกไป จึงมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย และเน้นย้ำว่ามีหลักการง่ายๆ หลักสำคัญอย่างแรกคือ การบังคับใช้กฎหมายในการกำหนดแนวเขตทับซ้อนว่าต้องแก้ไขอย่างไร โดยขณะนี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมให้รัฐมนตรีขับเคลื่อนแนวเขตที่เป็นของรัฐที่เรียกว่า วันแมป โดยกระทรวงกลาโหมมอบหมายให้กรมแผนที่ทหาร ดำเนินการเรื่องแผนที่เพื่อยุติข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งตอนนี้ต้องรอทางกรมแผนที่ทหารเร่งดำเนินการ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์​ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ กล่าวว่า​ เรื่องนี้มีแนวทางที่เรียกว่า วันแมป คือการใช้แนวเขตที่ดินของรัฐมากำหนด และก่อนหน้านี้คือการนำแผนที่มาตราส่วนเดียวกันมาปรับให้เป็นแนวเขตเดียวกัน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่เขาใหญ่ รอให้เจ้ากรมแผนที่ทหารซึ่งขณะนี้กำลังลงพื้นที่อยู่ได้ดำเนินการ

ต้องติดตามต่อว่าเรื่องนี้จะได้บทสรุปอย่างไร


คลิปอีจันแนะนำ

ช็อต ต่อ ช็อต ชัยวัฒน์ ฉะ ธรรมนัส