เช็กให้ดี! “ฉี่เล็ด” สัญญาณเตือนโรค ที่ไม่ได้เป็นเเค่คนแก่ แต่เป็นได้ทุกคน

สังเกตการขับถ่ายให้ดี! หมอเจด เตือน “ฉี่เล็ด” สัญญาณเตือนโรคร้ายแรงหลายโรค ที่ไม่ได้เป็นเฉพาะคนแก่ แต่เป็นได้ทุกคน แนะหากมีภาวะแบบนี้ควรไปหาหมอเพื่อรับการรักษา

ใครเคยเป็น หรือเป็นอยู่ควรเช็กตัวเองด่วนเลยนะคะ! 

วันนี้(23 ก.ค.68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความเตือน เกี่ยวกับการขับถ่าย อย่าง “ฉี่เล็ด”  ที่บอกเลยว่าไม่ได้เป็นเฉพาะคนที่มีอายุเยอะเท่านั้นนะคะ โดยคุณหมอได้ระบุว่า… 

ระวัง ! ฉี่เล็ด สัญญาณเตือนโรค รีบเช็กตัวเองด่วน ต้องเข้าใจก่อนว่า  “ฉี่เล็ด”  นี่เป็นเรื่องที่เจอบ่อย บางคนก็อายไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง หรือบางคนเจอตอนหัวเราะแรง ๆ บางคนเดินไปเข้าห้องน้ำไม่ทันก็มาหยดก่อนถึงห้องน้ำ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก มันเป็นสัญญาณจากร่างกายว่า “ระบบควบคุมการปัสสาวะกำลังผิดปกติ” ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหลังคลอด ผู้ชายสูงวัย หรือแม้แต่วัยทำงานก็เจอได้ทั้งนั้น เดี๋ยววันนี้จะเล่าให้ฟัง พร้อมบอกวิธีที่ช่วยป้องกัน 

1. ฉี่เล็ดไม่ใช่เรื่องปกติของคนแก่เท่านั้น หลายคนเข้าใจว่า “ฉี่เล็ด” เป็นแค่เรื่องของคนสูงวัยแต่ความจริงคือ ทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเป็นได้ แต่อาจมี “กลไก” หรือ “ปัจจัยเสี่ยง” ต่างกัน 

ตัวอย่างกลุ่มเสี่ยงที่เจอบ่อย 

-ผู้หญิงหลังคลอด  กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานยืดขยาย อาจทำให้ควบคุมปัสสาวะได้ยาก 

-ผู้สูงอายุ  กล้ามเนื้อหูรูดอ่อนแรงตามวัย 

-ผู้ชายต่อมลูกหมากโต หรือเคยผ่าตัดต่อมลูกหมาก  กลไกควบคุมปัสสาวะรวน 

-คนอ้วน / คนท้อง  น้ำหนักกดทับกระเพาะปัสสาวะ 

-โรคประจำตัวบางอย่าง   เช่น เบาหวาน, พาร์กินสัน, เส้นประสาทถูกทำลาย ฯลฯ 

2.  ฉี่เล็ดมีกี่แบบ? รู้ไว้จะได้แก้ถูกจุด 

อาการ “ปัสสาวะเล็ด” หรือ Urinary Incontinence ไม่ใช่มีแค่แบบเดียว ถ้าเรารู้ว่าตัวเองเป็นแบบไหน ก็จะป้องกันและรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น ประเภทที่เจอบ่อย 

1.Stress Incontinence เจอตอน “มีแรงกด” เช่น ไอ จาม หัวเราะ ยกของ พบบ่อยในผู้หญิงหลังคลอด หรือวัยทอง 

2.Urge Incontinence อยู่ดี ๆ ก็ปวดฉี่แบบปวดฉับพลัน ทนไม่ไหว ต้องรีบเข้าห้องน้ำ หรือ บางคนยังไม่ทันถึงห้องน้ำ ก็เล็ดออกมาแล้ว พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคทางระบบประสาท 

3.Mixed Incontinence เป็นทั้งสองแบบรวมกัน ทางการแพทย์เราจะใช้วิธีซักประวัติ + การตรวจทางเดินปัสสาวะ เช่น Urodynamic test เพื่อแยกประเภทให้ชัด เพราะแนวทางการรักษาแต่ละแบบไม่เหมือนกันเลยครับ 

3. ฉี่เล็ด อาจบอกโรคที่ลึกกว่าที่คิด 

บางคนคิดว่าแค่ฉี่เล็ดคงไม่ร้ายแรงแต่จริง ๆ มันอาจเป็น “สัญญาณเตือน” ของโรคที่ต้องระวัง 

ตัวอย่างโรคที่อาจซ่อนอยู่ 

-เบาหวาน – ทำให้เส้นประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะเสื่อม (Diabetic cystopathy) 

-โรคทางสมอง/ระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน 

-ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก – โดยเฉพาะในชายวัย 50 ปีขึ้นไป 

-กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) – มีทั้งสาเหตุจากฮอร์โมนหรือไม่ทราบสาเหตุ 

-กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน – โดยเฉพาะในผู้หญิงที่คลอดลูกหลายคน 

เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามอาการฉี่เล็ด ถ้าเป็นบ่อยควรมาหาหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะบางคนไปเจอโรคกแบบไม่รู้ตัก็มี 

4. วิธีป้องกัน & ฟื้นฟูกล้ามเนื้อควบคุมฉี่ จริงๆอาการฉี่เล็ดหลายแบบสามารถ ป้องกันได้ และฟื้นฟูกลับมาได้ โดยเฉพาะถ้าเรารู้วิธีดูแล “กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน” ซึ่งเป็นตัวคุมหูรูดของเรานั่นเอง 

วิธีดูแลตัวเอง  

-ฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel Exercise) 

-ขมิบเหมือนตอนกลั้นฉี่ ค้างไว้ 5–10 วินาที ทำวันละ 2–3 เซ็ต 

-ทำได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ลดน้ำหนัก ถ้ามีน้ำหนักเกิน – ลดแรงกดทับกระเพาะปัสสาวะ, เลี่ยงกาแฟ-ชา-แอลกอฮอล์ – เพราะเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้ปวดฉี่บ่อย, เลิกบุหรี่ – ลดการไอเรื้อรัง (ซึ่งกระตุ้นให้ฉี่เล็ดแบบ stress), ไม่กลั้นฉี่บ่อย ๆ – ฝึกเข้าห้องน้ำเป็นเวลา,  ฝึกควบคุมเวลาเข้าห้องน้ำ (Bladder Training) – โดยค่อย ๆ ยืดช่วงเวลาเข้าห้องน้ำออกไป 

5. ถ้าฉี่เล็ดบ่อย ต้องหาหมอเมื่อไหร่? 

อันนี้ย้ำทุกคนเลยนะ ไม่ต้องเขิน ถ้าเริ่มมีอาการฉี่เล็ดบ่อย ๆ เพราะหมอเจอมาทุกวันยิ่งรีบมาคุย ยิ่งแก้ได้เร็ว ไม่ต้องปล่อยให้ลุกลามจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรพบแพทย์ถ้ามีอาการเหล่านี้ ฉี่เล็ดเป็นประจำ จนรบกวนชีวิตประจำวัน, ปวดฉี่บ่อยตอนกลางคืน / นอนไม่หลับเพราะต้องลุกเข้าห้องน้ำ, ปวดฉี่บ่อยมาก แต่ฉี่ได้นิดเดียว, เคยผ่าตัดช่องท้อง / กระดูกสันหลัง แล้วมีอาการฉี่เล็ด, มีเลือดในปัสสาวะ / เจ็บเวลาฉี่, มีประวัติประจำตัว เช่น เบาหวาน พาร์กินสัน หรือมะเร็ง 

 การรักษามีหลายแนวทาง เช่น ยากลุ่ม antimuscarinic สำหรับกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ฟื้นฟูกล้ามเนื้อด้วยกายภาพ ใช้เทคโนโลยีกระตุ้นเส้นประสาท หรือแม้แต่ผ่าตัดเสริมหูรูดในบางเคส 

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดที่จะละเลยเรื่องสุขภาพเล็กๆน้อยแค่นี้ อย่างเช่นการ “ฉี่เล็ด” มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย และไม่ใช่แค่ปัญหาของคนสูงวัยมันอาจสะท้อนถึงสุขภาพของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่ควรหาสาเหตุให้เจอ 

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก หมอเจด  https://www.facebook.com/share/p/1Yyt4sDvJr/