นิด้าโพล เผย ผลสำรวจ ความเชื่อมั่น ในการรับมือโควิด พบ 40% พอใจ

นิด้าโพล เผย ผลสำรวจ ประชาชน 40% มี ความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุข ในการรับมือโควิด ขณะที่ 28% ไม่ค่อยพอใจ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยกับการรับมือโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่” โดยทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 20-23 ธ.ค. 64 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,314 หน่วยตัวอย่าง โดยจากการสำรวจในเรื่อง “ความพึงพอใจต่อมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ของรัฐบาลตั้งแต่มีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน” พบว่า ร้อยละ 40.03 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะประชาชนได้วัคซีนอย่างทั่วถึง มีมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเข้มงวด สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้, รองลงมา ร้อยละ 28.08 ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า การนำวัคซีนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ มาฉีดให้แก่ประชาชน, ร้อยละ 16.97 ระบุว่า พึงพอใจมาก เพราะมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด มีการจัดสรรวัคซีนได้อย่างทั่วถึง สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้, และร้อยละ 14.92 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย เพราะการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารวัคซีนล่าช้า วัคซีนไม่มีคุณภาพ และมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

ขณะที่ในด้านความเชื่อมั่นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของรัฐบาลในอนาคต พบว่า ร้อยละ 36.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะมาตรการป้องกันไม่เข้มงวด การนำวัคซีนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ มาฉีดให้แก่ประชาชน เชื้อโรคกลายพันธ์อย่างต่อเนื่อง, รองลงมา ร้อยละ 32.50 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น, ร้อยละ 18.19 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาล่าช้า มาตรการไม่เข้มงวด การบริหารวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 12.55 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะมาตรการป้องกันมีความการชัดเจนและเข้มงวด มีการจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง สถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

สำหรับความกังวลต่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์ “โอมิครอน (Omicron)” พบว่า ร้อยละ 34.78 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว วัคซีนที่ได้รับมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกัน มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว, รองลงมา ร้อยละ 24.96 ระบุว่า กังวลมาก เพราะเชื้อกลายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว วัคซีนที่ได้รับมีประสิทธิภาพลดลง การบริหารของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 22.91 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยสามารถรับมือได้, และร้อยละ 17.35 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และเป็นสายพันธุ์ไม่ค่อยมีความรุนแรง

คลิปอีจันแนะนำ
ฟังคำสารภาพ 4 พราน ล่า ฆ่า 2 เสือโคร่ง @ป่าทองผาภูมิ