สวนนงนุช ใน วิกฤติโควิด ระลอก 3

แนวคิด เปิดให้เที่ยวฟรี ให้คนไทยช่วยกันเที่ยวไทย เที่ยว สวนนงนุช ใน วิกฤติโควิด ระลอก 3

คราวที่แล้วเราเล่าประสบการณ์การเที่ยวสวนนงนุชครั้งแรก ในช่วงวิกฤติโควิดแต่กลับเป็นการคืนกำไร เพราะ เหมือนสวนสวย ถูกจัดให้เป็นสวนส่วนตัว ไม่ต้องต่อแถว ไม่ต้องรอถ่ายรูปในมุมสวย แถมถ่ายรูปออกมา มีแค่เรากับวิวพันล้าน ในพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ ลานจอดรถก็กว้างจะจอดตรงไหนก็ได้ เราได้แต่ถูกแนะนำว่า ชายที่เพิ่งขับรถผ่านเราไปนั้นคือเจ้าของสวนนงนุช แต่พอหันไปรถคันนั้นก็เลยไปไกลแล้ว ไม่เห็นว่าเขาหน้าตาเป็นอย่างไร เรากลับไปสวนนงนุชอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายเป็นทางการ ไม่ได้แอบมาเที่ยวเหมือนคราวก่อน

คราวนี้เราได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก “พี่เพ็ญ” และ “พี่เอ๋” ได้ทำความรู้จักกัน และได้พูดคุยกันถึงโปรเจคที่จะสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทางสวนนงนุชรับเป็นเจ้าภาพจัดสวนให้ การพูดคุยหลายชั่วโมง ทำให้คนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้มารู้จักกัน กลายเป็นเหมือนพี่น้องที่รู้จักกันมานาน จากนั้นก็พาเราชมสวนนงนุชอีกครั้งแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพราะพี่เอ๋ เป็นคนพาเที่ยวค่ะ รถแล่นมาถึงสวนแคคตัส นอกจากจะทึ่งกับความอลังการแล้ว ยังต้องนิ่งไปนิดนึง เมื่อทราบว่า ชายรูปร่างสูงโปร่ง ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะ ที่กำลังยืนกะระยะแท่นวางแคคตัสนั้น คือเจ้าของสวน พี่ต้นบอกว่า ร้องเท้าแตะที่ผู้ชายคนนั้นใส่ ราคาแสนห้า เรายิ่งอึ้ง พี่เอ๋ รีบบอกต่อ แสนห้าซื้อไม่ได้ เพราะมันแค่ 75 บาท แล้วเวลาซื้อที ก็ซื้อยกโหลด้วย เราใช้เวลาคิดต่อนิดหน่อย อ้อ ! แล้วก็ขำออกมา แล้วก็คิดว่า ทำไมเราคิดเยอะจัง

เราสวัสดีและขอบคุณ “คุณโต้ง นายกัมพล ตันสัจจา” ประธานสวนนงนุชพัทยา ในคราวเดียวกัน ขอบคุณที่จะไปจัดสวนในโครงการสร้างโรงเรียนเด็กพิเศษหัวหินให้กับเรา คุณโต้งบอกว่าทราบแล้วว่าเราจะมาอบรมเรื่องการสร้างคอนเทนต์โซเชียลมีเดียให้กับสวนนงนุช สิ่งที่เราคุยกับคุณโต้งในวันนั้นไม่ได้มีประเด็นอะไร นอกเหนือจากการตั้งใจจะขอบคุณ แต่การคุยกันในช่วงเวลาสั้นๆ มีแนวคิดบางอย่างที่น่าสนใจ สวนนงนุชจะทำอย่างไร ในวิกฤติโควิด จากคนมาเที่ยวเกือบ 10,000 คนต่อวัน เหลือวันละ 100 คนก็ดีใจ ในวันที่ สวนนงนุช ลงทุนเพื่อมุ่งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นมรดกของแผ่นดิน

“ที่สวนนงนุชเรากำลังจะมีวรรณคดี มีหัวโขนอีก 41 ตัวละคร ซึ่งอีก 10 สัปดาห์จะครบทุกตัวละคร ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้ได้ชมกัน และต่อไปเราก็จะทำหุ่นกระบอกต่อ เราต้องสอนเด็กเล็กๆ 3 อย่าง ให้รักธรรมชาติ ให้รักสัตว์ ให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ ผมเอามารวมกัน สัตว์ผมเอาไดโนเสาร์สร้างแบบไม่หยุด สร้างใหญ่ที่สุดในโลก และตอนนี้เด็กมาถ่ายรูปกับสิ่งนี้กลับบ้านเขามีความทรงจำ เขาโตมีลูกเขาจะพามาเรียนรู้ ไม่ต้องเป็นสัตว์ที่แท้จริงก็ได้ นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดที่เราทำ พวกฝรั่งถามผมว่า รัฐบาลช่วยอะไรผมบ้าง เขาถามว่าทำไมคุณทำหน้าที่ให้รัฐบาล โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินสักบาท แล้วผมก็ทำประสบความสำเร็จด้วย ในประเทศอื่นๆ เด็กๆ เขาออกไปเที่ยวสวน เพราะพ่อแม่พาไป รุ่นพวกเราไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่พาลูกเราไป น้อยคนมาก แต่ตอนนี้คอยดูสิ่ เด็กจะบอกพ่อให้พามาสวนนงนุช มาดูไดโนเสาร์ พ่อต้องพามาเพราะลูกชวน มันจะกลับกันแล้ว สวนจึงเป็นหน้าต่างแห่งการเรียนรู้ เรื่องนี้ไม่มีใครเข้าใจลึกซึ้งสักที ผมทำไปเนี่ยผมถึงบอกว่าแก่แล้วนะ ตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมทิ้งไว้ได้คือ สวนนงนุช ที่ผมสร้าง”

สวนนงนุช ใน วิกฤติโควิด

“ยุคโควิดเนี่ยเราไม่มีรายได้เลย ผมทำเส้นทางใหม่เส้นทางผ่านเลิฟลี่ ให้คนได้เห็นได้รักต้นไม้ ก็เหมือนไทยเที่ยวไทย รู้ไหมทำไมประเทศไทยเรื่องท่องเที่ยวหรือเมืองรองไปไม่รอด ก็เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมาซัพพอร์ต เอาอย่างนี้ดีกว่าคุณไปเมืองนอก พ่อแม่คุณไปเขาซื้อตั๋ว 2 ใบ นั่งรถไปเที่ยวสโดตเฮนจ์ ไปเที่ยวปาร์คที่อังกฤษสมมตินะ เขาก็ไปได้ แต่อยู่เมืองไทยพ่อแม่คุณ 2 คน จะซื้อตั๋วไปเชียงใหม่คุณให้ไปไหม คุณไม่ให้ไปถูกไหม ดังนั้นเราต้องให้ไทยรู้จักที่จะต้องไปเที่ยวไทย ผมเข้าใจเรื่องนี้ ผมให้บัตรฟรีทั้ง 2 รอบเลย ทั่วประเทศไทยจนคนไทยทุกคนจึงรู้จักสวนนงนุชหมด”

“เขามาแล้วเขาก็ใช้เงินเขาก็เที่ยวเป็น ผมจะบอกเลยคนสูงอายุ ตอนแรกผมให้วันจันทร์เข้าฟรี เพราะไม่มีคนแต่ผลสุดท้าย ทำไมผมโง่แบบนี้ ต้องให้วันศุกร์ฟรี เพราะอะไร วันศุกร์เขามาได้แล้วเขาก็อยู่ต่อวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ด้วย สมมุติอัมพวา เปิดวันเสาร์อาทิตย์ เขาจะเปิดวันศุกร์อีกวันนึง รายได้ก็เพิ่ม ดังนั้นกิจการเรื่องไทยเที่ยวไทยก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ วันศุกร์จึงเป็นวันสำคัญ สำหรับคนสูงอายุรวมทั้งเด็ก เป็นวันที่เขาควรจะให้เข้าฟรีกัน แล้วก็ลดกันแหลกเลยแม้กระทั่งโรงแรม ทุกอย่างมันจะเพิ่มขึ้นเอง ไทยเที่ยวไทยเป็นเรื่องง่ายๆ”

“อย่าง อบต. ผมให้เดือนนึงรถบัสฟรี 20 คัน อบต.ก็ชวนคนในชุมชนมาเที่ยว เขาก็ได้เที่ยวเป็นกลุ่มได้มารู้จักกัน ก็พากันไปเที่ยว พอเขาสนุกเขาก็ใช้เงินมากกว่าการนั่งรถฟรี ไปบางแสนก็แวะซื้อของฝาก พอคนไทยเที่ยวเป็น ในประเทศเราคนมาจากไหน จากพวกนี้แหละ คุณเกษียณ คุณก็ชวนเพื่อน ชวนไปชวนมาเพื่อนก็ชวนเพื่อนมันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นก๊วนนั่งรถทัวร์เที่ยวใช่ไหม สวนนงนุชเราเริ่มแบบนี้มานานแล้ว โควิดหมดแล้วก้ต้องไทยเที่ยวไทยก่อน สมมุติว่าเราฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว ทุกคนก็มีความรู้สึกสบายใจ และรู้จักวิธีป้องกันดูแลตัวเองตัวเอง ก็เริ่มไปเที่ยวเงินก็เริ่มสะพัดให้กับกลุ่มรากหญ้าก่อน พวกบริษัทใหญ่ๆ อย่างผมช่วยไม่ได้ รอเมืองนอกอีกสัก 2 ปี ถูกไหมครับ แต่ไทยเที่ยวไทยก็จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมา เพราะเรากล้าที่จะเที่ยว”

“ที่สวนนงนุชเราจัดสวนไม่เหมือนที่อื่น เพราะมนุษย์ไม่ได้ต้องการธรรมชาติแล้ว แต่มนุษย์ต้องการความสวยงามทางธรรมชาติ เราจะสร้างธรรมชาติให้สวยอย่างไร ถามว่าคุณอยากดูไหม อย่างหัวกระบองเพชรที่เป็นสีๆ ผมมีอยู่ประมาณ 70,000 หัว กำลังจะเข้ามาอีก 70,000 หัว คุณไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในโลกละกัน ไม่มีใครทำกันเราก็ทำให้เขาดู ให้เขาเกิดตื่นตาตื่นใจ ให้เขารักในสิ่งที่เขาได้เห็น รักที่อยากจะได้ นี่คือสิ่งที่เราทำ ให้เป็นมหัศจรรย์ธรรมชาติประมาณนี้ ไม่อย่างนั้นผมหยุดสวนสวยไปตั้งนานแล้ว จะทำทำไมเยอะแยะ 3 สวน อยู่ในสวนเดียวกัน”

เวลาสั้นๆ ที่ได้เจอเพื่อขอบคุณและทักทาย ทำให้เราอยากกลับเพื่อพูดคุยกับผู้ชายคนนี้อีก เราต้องลา “คุณโต้ง นายกัมพล ตันสัจจา” ประธานสวนนงนุชพัทยา เพราะพี่เอ๋ยังต้องพาเราไปชมสวนนงนุชต่ออีก เกือบ 2,000 ไร่ เที่ยว 7 วัน ไม่หมด ไว้ถ้าได้กลับไป คาดว่าเดือนหน้านี้ เราจะมาเล่าเรื่องต้นไม้ ไดโนเสา ที่สวนนงนุชให้อ่านกันอีกนะคะ