ส่งยา ด่วน ! ซุปเปอร์ไรเดอร์ ส่งยาให้ผู้ป่วยโควิด กทม. ถึงหน้าบ้าน

กรมควบคุมโรค สธ. จัด 60 ซุปเปอร์ไรเดอร์ ปชช.จิตอาสา ส่งยาด่วน ให้ผู้ป่วยโควิด พร้อมจัดทีมตรวจเชิงรุก ลงชุมชน กทม. 6 โซน 50 เขต ค้นหา รักษา ป้องกัน ควบคุม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุน กทม. ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่บ้าน จัดหน่วย ซุปเปอร์ไรเดอร์ 60 คัน ส่งยาด่วน พร้อมอุปกรณ์จำเป็นให้ผู้ติดเชื้อที่พักรักษาตัวที่บ้าน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. ยังพบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ในจำนวนเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ดำเนินการร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการตั้งจุดตรวจภาคสนามเพื่อบริการแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค 3 แห่ง คือ

1.สนามกีฬาธูปะเตมีย์

2.สนามราชมังคลากีฬาสถาน

3.สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี

สามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 4,000 คนต่อวัน โดยใช้ชุดตรวจ เอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) ซึ่งสามารถรู้ผลได้รวดเร็ว รายใดที่ผลเป็นบวก จะตรวจยืนยันผลด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ด้วยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน และรถเอ็กซ์เรย์ปอดเคลื่อนที่ (เฉพาะจุดสโมสรกองทัพบก) แยกผู้ติดเชื้อตามระดับอาการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐาน ทั้งที่บ้าน ที่ชุมชน หรือที่โรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนและแยกรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย กรมควบคุมโรคได้จัดหน่วยส่งยาด่วน หรือเรียกว่า “ซุปเปอร์ไรเดอร์” ซึ่งเป็นประชาชนจิตอาสา ขณะนี้มีจำนวน 60 คน เพื่อนำชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาอาการที่บ้าน ประกอบด้วย ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ หน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่เชื้อ ขณะนี้ส่งมอบไปแล้วกว่า 100 ราย

ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคยังได้จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด 19 เชิงรุกหรือที่เรียกว่า ซีซีอาร์ทีม (Comprehensive COVID-19 Response Team : CCR Team) จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จำนวน 12–15 ทีม ร่วมกับ กทม. และเครือข่ายอื่นๆ เข้าค้นหาผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในชุมชนทั้ง 6 โซน ใน 50 เขตของกทม. ซึ่งแต่ละทีม จะทำการควบคุมโรค ตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยชุดเอทีเค ได้วันละประมาณ 1,000 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งประเมินระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ตามพื้นที่เสี่ยงสำคัญ เช่น แคมป์ก่อสร้าง ตลาดสด ชุมชน และให้ความรู้ในการป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วย สงสัยอาจติดเชื้อโควิด 19 สามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422