หมอยง เผยผลศึกษา วัคซีนโควิด เข็ม 3 พบ ระดับภูมิต้านทาน ยังสูง ทุกสูตร

หมอยง เผยผลการศึกษา เปรียบเทียบ ระดับภูมิต้านทาน ก่อนรับ วัคซีนเข็ม 3 พบ ยังสูง ทุกสูตร

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยได้นำเสนอข้อมูล เปรียบเทียบการฉีดวัคซีนกระตุ้น เข็มที่ 3 ที่จะใช้ mRNA และไวรัสเวกเตอร์ เช่น Pfizer (PZ), Modena (MN), AstraZeneca (AZ) ซึ่งเป็นสูตรที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย การใช้วัคซีน mRNA ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้เป็นเข็มกระตุ้น เพราะได้ฉีดวัคซีนชนิดอื่นมาแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนการกระตุ้นด้วย AZ ในกลุ่ม SV-SV-AZ ได้มีการตีพิมพ์แล้ว ส่วน SV-AZ-AZ และ AZ-AZ-AZ จะนำมาเสนอต่อไป เพราะได้ฉีดให้ในอาสาสมัครไปแล้ว

วัคซีน Moderna ที่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา จะให้เพียงครึ่งโดสเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์, Moderna หรือ J&J ที่เป็นไวรัส เวกเตอร์ ขณะเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ ก็ใช้วัคซีน Moderna เป็นเข็มกระตุ้นตามหลัง AZ ด้วยขนาดครึ่งโดส เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือเจ็บบริเวณที่ฉีด ยกแขนไม่ขึ้น ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย และที่สำคัญในเข็มกระตุ้น จะพบการโตของต่อมน้ำเหลืองที่ใต้แขน มากกว่าเข็มที่ 1 และ 2 (ข้อมูลของ US CDC) ดังนั้นจึงมีการศึกษาขนาดครึ่งโดสด้วย

ข้อมูลในเบื้องต้นนี้ เป็นการวัดระดับภูมิต้านทาน 2 วิธี คือ วัด total immunoglobulin ต่อ RBD หน่วยจะเป็น unit/ml, และ specific IgG ต่อ RBD ของสไปรท์โปรตีน หน่วยจะเป็น BAU/ml การศึกษาในประเทศไทย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าการให้เข็มกระตุ้น ไม่ว่าจะตามหลังวัคซีนเชื้อตาย SV-SV, SP-SP, SV-AZ, AZ-AZ 2 เข็มมาแล้ว มีผลการกระตุ้นได้ภูมิต้านทานที่สูง ในการตรวจทั้ง 2 วิธี การได้รับ SV-SV มาก่อน การกระตุ้นจะได้ภูมิต้านทานที่สูงที่สุด สูงกว่ากว่า SP-SP, SV-AZ และจากข้อมูลการกระตุ้นใน กลุ่ม SV-AZ ยังได้ระดับภูมิต้านทาน เท่าเทียม AZ-AZ อย่างไรก็ตามหากดูระดับภูมิต้านทานแล้ว ทุกกลุ่มก็ยังอยู่ในระดับสูง และขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล PZ-PZ-PZ 3 เข็ม (triple P) ในประเทศไทย เพื่อนำมาเปรียบเทียบ และกำลังศึกษา AZ-AZ-AZ หรือที่เรียกว่า triple A อีกด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลทุกกลุ่มที่มีการใช้ในประเทศไทย ส่วนกลุ่ม MN-MN-MN หรือ triple M อาจจะหาได้ยาก หรือต้องใช้เวลานาน แต่การให้ mRNA ในขนาดครึ่งโดส โดยเฉพาะ MN ผลที่ได้ไม่ได้แตกต่างกันมาก กับการฉีดวัคซีนเต็มโดส เพราะพบว่าภูมิขึ้นสูงมาก และมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า

จากข้อมูลดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทย ให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ด้วยการศึกษาในประเทศไทย มากกว่าที่จะใช้ข้อมูลจากต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาจากสถานการณ์จริง ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคด้วย

คลิปอีจันแนะนำ
“พังฟ้าใส” ชีวิตบนเส้นด้าย