เราทุกคนกำลังก้าวเข้าสู่สนามรบ! เผชิญภัยพิบัติโควิด

นพ.ไพโรจน์ รอง ผอ.รพ.ราชวิถี เผยการทำงานสู้วิกฤติโควิด เสมือนก้าวเข้าสู่สนามรบ

สถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ถ้ายังไม่รีบแก้ไขอย่างเป็นระบบ ในขณะที่ทีมบุคลากรการแพทย์ตอนนี้ยังพอจะมีแรงรับมือ แต่ถ้าเกิดยังมีคนติดเชื้อมากขึ้น เพิ่มเตียงเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ อีกไม่นานก็คงจะไม่ไหว…

นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยกับอีจัน ถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิดในขณะนี้ ว่า รพ.ราชวิถี และศูนย์กู้ชีพนเรนทร ได้เริ่มรับผู้ป่วยโควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว (2563) ตั้งแต่ช่วงที่โควิดมาแรกๆต้นๆ กระทั่งมาจนถึงวันนี้ไม่เคยมีช่วงเวลาวันไหนเลยที่ไม่มีคนไข้โควิดมาอยู่ที่เรา แล้วมันก็หนักขึ้น หนักขึ้นเรื่อยๆ ณ วันนี้ ที่ห้องฉุกเฉินของ รพ.ราชวิถี มีคนไข้โควิดมากถึง 20 คน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่แค่ที่ราชวิถี แต่ที่อื่นก็คงจะเจอกับสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน เดิมบนตึกก็มีผู้ป่วยโควิดอยู่แล้วร้อยกว่าคน แต่ก็ยังมีคนไข้โควิดที่ยังไม่มีเตียง ก็ต้องนอนรออยู่ที่ห้องฉุกเฉิน แต่อย่างที่เราทราบว่าห้องฉุกเฉินก็จะมีผู้ป่วยฉุกเฉินอื่นๆเข้ามาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เขาติดเชื้อกัน ซึ่งตรงนี้ที่เราต้องจัดการให้ได้ ถามว่าเรามีการเตรียมพร้อมไว้ไหม เรามีมาตั้งนานแล้ว คือการทำห้องแรงดันลบในห้องฉุกเฉิน เดิมกำหนดไว้ว่า 1 ห้องแรงดันลบ รับคนไข้ 1 คน แต่วันนี้ 1 ห้องแรงดันลบมีคนไข้ 3 คน เรียกได้ว่าตอนนี้มันไม่มีพื้นที่ที่เราจะเพิ่มไปยังไงอีก จนตอนนี้ก็แอบคิดว่าจะต้องให้คนไข้ไปอยู่ตรงทางเดินหรือเปล่า แต่ถ้ามันเกิดแบบนั้นขึ้นก็จะเป็นความเสี่ยง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถ้าเราจะเพิ่มพื้นที่ไปอีก มันจะต้องเพิ่มเท่าไหร่ถึงจะไปถึงจุดสิ้นสุดตรงคำว่าพอ

“ต้องบอกว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติแล้ว เพราะมันเกินกว่าจำนวนทรัพยากรที่เรามีกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ การทำงานของพวกเราคิดเสมอว่ากฎข้อแรก เจ้าหน้าที่บุคลากรต้องปลอดภัย”

โดย นพ.ไพโรจน์ ยังได้อธิบายถึงแนวคิดที่อยากจะสื่อสารไปถึงคน 4 กลุ่มใหญ่ ที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด ว่า ตอนนี้เราเหมือนกำลังทำสงครามอยู่ในสนามรบ บุคคล 4 กลุ่มที่ว่าคือ

1.ผู้กำหนดนโยบาย

2.บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคน

3.ภาคประชาชน

4.ภาคประชาสังคม ที่มีจิตอาสาอยากจะมาช่วยในวิกฤติ

ขออธิบายกลุ่มแรก ภาคประชาชนก่อน อย่างที่ทราบกันว่าวันนี้เรากำลังเผชิญในวิกฤติ สิ่งที่ภาคประชาชนจะช่วยกันทำได้ แน่นอนว่าคือการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ หรือถ้าเกิดติดโรคขึ้นมาแล้ว จะทำยังไงไม่ให้แพร่เชื้อ มันจะช่วยลดจำนวนความเสี่ยงตรงนี้ไปได้ ซึ่งจริงๆแล้วควรจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเป็นโควิดทำไมถึงบอกว่าเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นจากไวรัส โควิดก็เกิดขึ้นจากไวรัส

ซึ่งไวรัสเองธรรมชาติของมันสามารถหายได้ถ้าคนคนนั้นมีภูมิต้านทานหรือมีการดูแลตนเองที่ดี ก็จะหายเองได้ 70 – 80 % แต่วันนี้คนส่วนใหญ่ที่เป็นจะลืมข้อนี้ไป คิดว่าเป็นแล้วต้องตาย เป็นแล้วจะอาการหนัก แต่ในข้อเท็จจริงคนที่เป็นโอกาสที่จะหายเองได้ดี 70 – 80 % คนลมตรงนี้ไปเพราะคิดว่าเป็นโควิดแล้วจะฝังหัวว่าเป็นแล้วจะต้องตาย จะต้องหาโรงพยาบาลอยู่ให้ได้ แต่วันนี้หาโรพยาบาลอยู่ หรือหาที่ตรวจก็ยังไม่ได้ ยากมาก เพราะฉะนั้นเมื่อคนป่วยหาไม่ได้ก็จะเกิดภาวะเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งกินข้าวไม่ลง กินน้ำไม่ได้ โรคมันก็วนเวียนกลับกลายเป็นเรื่องแย่ลงๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องทำความเข้าใจในตัวโรคและเมื่อเป็นแล้วก็ต้องรู้จักวิธีที่จะดูแลตัวยังไง เป็นแล้วอย่าเพิงกังวลดูแลตัวเองให้เป็น ฝึกหายใจ เพราะอย่างที่รู้ว่าโควิดอาการรุนแงคือทำลายปอด แต่ในตัวโควิดมันจะมีสารคัดหลั่งที่เกิดขึ้นอยู่ในหลอดลม ในถุงลม เพราะฉะนั้นถ้าเรามีการหายใจเข้าออกลึกๆ มีการฝึกหายใจตรงนี้บ่อยๆ มีการเปลี่ยนท่าทาง นอนคว่ำ นอนหงาย ตะแคงซ้ายตะแคงขวา เพื่อให้เสมหะออกมาจากการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกระแอมออกมา เพื่อที่ว่าให้ปอดได้มีการฝึกทำงาน มันก็จะทำให้โอกาสที่เรียกว่าเกิดภาวะอุดตัดของหลอดลมหรือถุงลมน้อยลง ความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการเสียชีวิตก็น้อยลง เพราะที่เราทราบก็คือความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำก็เพราะว่าถุงลมปอดทำงานไม่ได้ นี่คือสิ่งที่คิดว่าในข้อแรกของประชาชนก็คือ ไม่แพร่ ไม่ติด ถ้าติดแล้วต้องเข้าใจดูแลตัวเองให้เป็น

กลุ่มที่ 2 ก็คือในเรื่องของกลุ่มที่เป็นบุคลากร เชื่อว่าทุกที่กำลังอยู่ในภาวะเครียด เพราะโควิดมันร่วม 2 ปีแล้ว งานหนัก ทุกคนที่ทำงานเรียกว่าต้องเผชิญหมดทุกบุคลากร อาจจะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากภาคประชาชนด้วยความเข้าใจ ซึ่งวันนี้เชื่อว่าบุลากรทางการแพทย์ทุกที่ยังมีกำลังใจที่อยากจะสู้เต็มที่อยู่ แต่อาจจะท้อไปบ้าง ซึ่งก็หวังว่าถ้าประชาชนเข้าใจ เชื่อว่าน่าจะผ่านพ้นตรงนี้ไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่กลัวและไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือว่า เกิดการทำร้ายบุคลากร เพราะคนไข้ก็เครียด คิดว่าทำไมไม่รับรักษา และเรื่องอุปกรณ์ในการป้องกัน ก็ต้องคิดเสมอว่าจะใช้งานอย่างไรให้มันไม่สิ้นเปลือง เพราะว่าในระยะยาวเราคงจะหาไม่ได้แน่นอน เพราะขณะนี้จำนวนตัวเลขคนป่วยมากขึ้นๆ

กลุ่มที่ 3 ก็คือภาคประชาสังคม กลุ่มจิตอาสาต่างๆ ที่จะพยายามช่วยเหลือกัน และวันนี้ภาคจิตอาสาก็เยอะแยะเลย ที่พยายามออกมาหาข้อมูล เก็บข้อมูลจากช่วยคนป่วยเพื่อที่จะขอหาพื้นที่หาโรงพยาบาลให้ ซึ่งคนไทยต้องถือว่าโชคดีเรามีคนที่ใจบุญที่อยากจะช่วยเยอะแยะเลย ก็อยากจะให้กลุ่มจิตอาสาเหล่านี้ทำงานไปอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน

กลุ่มสุดท้าย ก็คือผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งก็คิดว่าวันนี้คนที่กำหนดนโยบาย คนที่อยู่บนๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับข้างบน ก็หวังว่าในวันนี้เราจำเป็นจะต้องไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านเป็นคนกำหนดนโยบาย ท่านควรจะต้องคำนึงว่าวันนี้เราจะสู้กับวิกฤติของประเทศ เราต้องร่วมมือกันถึงจะพาให้ประเทศไปรอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านจะทำทุกอย่างก็ต้องมีเมตตาและแบ่งปัน ยกตัวอย่างเรื่องวัคซีน ก็ต้องบอกว่าถ้าตราบใดที่ยังได้ประโยชน์กับการที่ฉีดกับคนไทยหรือคนที่อยู่ประเทศไทย ขอให้เร่งฉีดเถอะ ไม่ต้องไปเถียงกันว่าจะไปฉีดคนกลุ่มไหนก่อน ถ้าทำได้ก็ไปฉีดคนแก่ก่อน แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นไร ขอให้ฉีดประชาชนไปก่อนก็ได้ เพราะนั่นคือเป็นการลดความเสี่ยงตรงด้านนี้ ไม่ต้องสร้างความสับสน เพราะตอนนี้ชาวบ้านสับสนพอสมควรแล้ว แล้วก็เครียดทุกข์ใจพอแล้ว และก็ต้องบอกว่าการจะทำอะไรภายใต้นโยบายมันนั้นมันเป็นการใช้เงินงบประมาณ เพราะต้องดูแลคนหลายสิบล้านคน การใช้เงินมันเป็นก้อนมหาศาล เพราะฉะนั้นการจะใช้เงินทำอะไรก็ต้องคิดว่า วันนี้กลุ่มคนที่ไม่มีเงินแม้กระทั่งกินข้าว คุณต้องช่วยเขา เพราะกลุ่มพวกนี้ถ้าเราไม่ช่วยเขา เขาอาจจะไม่มีข้าวกินไม่มีแรง ถ้าเขาป่วยอยู่เขาก็อาจจะตายได้ แต่ในการช่วยอาจไม่ใช่เอาเงินไปให้เขา เพราะพอเอาให้วันนี้ พรุ่งนี้อาจจะหมด มันควรต้องเป็นอะไรที่ทำเงิน ให้มันเป็นเงินต่อเงิน เพราะไม่มีทางที่จะเอาเงินมาจ่ายช่วยได้ทุกวันๆ ให้กับคนทุกคน ก็คือให้เบ็ดให้เขาไปตกปลา ไม่ใช่ไปตกปลาให้เขากินทุกวัน นั่นคือสิ่งทีคิดว่าในกลุ่มคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายที่ต้องทำ ส่วนเรื่องเตียงไม่มีทางที่จะพอ พราะฉะนั้นการกำหนดนโยบายตอนนี้ต้องเป็นเชิงกว้างและเร็ว

ขณะนี้คนป่วยที่อยู่ในบ้าน เชื่อว่ามีเยอะ และก็ไม่มีทางที่จะมีเตียงเพิ่ม ถ้าจะบอกว่าเพิ่มเตียงอีก 10,000 เตียง แต่ก็สู้ไม่ไหวแน่ เพราะตัวเลขคนป่วยที่อยู่ในบ้านมากกว่านั้น แล้วถ้าสร้างมาหมื่นเตียงวันนี้ก็เต็มวันนี้ทันทีเลย แล้วพรุ่งนี้ล่ะ อย่างที่บอกว่าวันนี้บุคลากรการแพทย์ที่ทำหน้าที่อยู่ตอนนี้เขาก็จะตายอยู่แล้ว ถ้าจะเพิ่มเตียงแล้วเขาจะไปทำงานเพิ่มเติมได้อย่างไร ในเมื่อเขาแทบจะไม่มีแรงออกไปกว่านี้อีกแล้ว