กินรสจัด! ทำไตพังจริงหรือ ?

เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องไตก็สำคัญ แค่กินอาหารรสจัด นอนน้อย ไม่ออกกำลังกาย ทำให้ไตพังพินาศได้จริงหรือ?

เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องนี้ อีจัน ให้ความสำคัญมาก

คำว่า You are what you eat ที่แปลว่า คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น

คำพูดนี้จริงที่สุด!

ดังเช่นการมาเยือนของ “โรคไต” ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตของเจ้าของร่างกายทั้งสิ้น

ก่อนพูดเรื่องพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต อีจัน ขออธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับโรคไตให้เข้าใจกันก่อนว่า…

“โรคไต” จัดอยู่ในกลุ่มโรค NCDs (Non-communicable Diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และจะไม่เกิดการติดต่อจากคนสู่คน แม้จะเกิดการสัมผัสตัว หรือ สารคัดหลั่งของผู้ป่วย

…โรคกลุ่มนี้มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งค่อย ๆ สะสมอาการมาเรื่อย ๆ โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณของโรคร้ายนี้เลย แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้าย ๆ

ที่สำคัญ! ไต เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย

วันนี้ อีจันแข็งแรง จะมาอธิบายให้เข้าใจว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไหนที่เสี่ยงทำให้สนิทสนมและรู้จักมักจี่กับโรคไต!

1.ชอบกินอาหารรสจัด คำว่า “รสจัด” ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่รวมถึง หวานจัด เผ็ดจัด หรือ แม้แต่อาหารมันจัด ล้วนแต่ส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักทั้งสิ้น

2.ชอบกินอาหารสำเร็จรูป หรือ อาหารกระป๋อง ที่มีปริมาณโซเดียมมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไต

3.ดื่มน้ำน้อย หรือ มากเกินไป การกำจัดของเสียในร่างกายผ่านไต จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรอง การดื่มน้ำน้อย หรือ มากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ

4.คนที่เป็นโรคอ้วน หรือ มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI : Body Mass Index) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป คนกลุ่มนี้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคไตวายเรื้อรังมากขึ้นอีกด้วย

5.การซื้อยารับประทานเอง ทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพรต่าง ๆ เพราะยาบางชนิดส่งผลต่อการทำงานของไต หากรับประทานยาต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคไตโดยไม่รู้ตัว

6.ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความดันโลหิต และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของไต

7.ขาดการพักผ่อน เมื่อเรานอนหลับ ร่างกายจะเริ่มซ่อมแซม และบำรุงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันหากเราขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น การฟื้นฟูอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงไต ก็ทำได้แย่ลง

8.ความเครียดที่สะสมมักจะทำให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงเมื่อเกิดความเครียด การทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ จะเสียสมดุล ความดัน และน้ำตาลในเลือดจะผิดปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคไต

เช็กอาการว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคไตหรือไม่ ?

ü อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ü ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นผิดปกติ มีสีผิดปกติ เป็นต้น

ü ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

ü มีอาการเบื่ออาหาร

ü ตัวบวมเนื่องจากมีน้ำและเกลือในร่างกายปริมาณมาก

ü ปวดหลัง ปวดบั้นเอว

ถ้าเป็นโรคไตแล้วก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลเกินไป มีวิธีรักษา ดังนี้

-รักษาตามอาการ เช่น การรับประทานยา และควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงยาบางประเภท

-รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้

1.การฟอกเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอาดโดยใช้ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

2.การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ

3.การปลูกถ่ายไต โดยการนำไตจากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต

ทั้งหมดเป็นเรื่องของ “โรคไต” ที่ #อีจันแข็งแรง นำมาฝากทุกคนให้ได้อ่านกัน

ถ้าวันนี้เราอยากให้ไตแข็งแรง ก็เริ่มปรับวิถีการกินและการใช้ชีวิตกันนะคะ

ที่มาข้อมูล :

https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Kidney_disease

https://www.synphaet.co.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A3/

คลิปอีจันแนะนำ
มินตรา บดยากินเอง