ทุกคนมีโอกาสเป็น “โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก”

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) หรือที่คนทั้งประเทศรู้จักในชื่อ “โรคปากเบี้ยว” หรือ “โรคไวรัสที่ปลายประสาทคู่ที่ 7” เป็นโรคที่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้

ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับ โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) หรือที่คนทั้งประเทศรู้จักในชื่อ “โรคปากเบี้ยว” หรือ “โรคไวรัสที่ปลายประสาทคู่ที่ 7”

เราได้ยินโรคนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2554 ครั้งนั้น โอ-อนุชิต สพันธ์พงษ์ ออกมาเปิดเผยว่าเป็นโรคนี้ โดยมีอาการปากเบี้ยว เวลาล้างหน้า น้ำจะเข้าตาซ้าย แม้ว่าจะหลับตา หนักสุดก็เริ่มเคี้ยวอาหารในปากไม่ได้ ทั้งหมดนี้ โอบอกเป็นอาการที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง!!

โรคปากเบี้ยว กับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์ หลังจากพิธีกรชื่อดัง “มดดำ” คชาภา ตันเจริญ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ปากก็เบี้ยว ตาก็ตก ตอนแรกประมาท นึกว่ารักษารากฟันมา อ้าวเห้ย เกือบขิต โคตรสุด อดใจอีกวัน รักษาสุด หมอฟันโคตรน่ารัก หาทางออกให้ไม่เกี่ยวกับทำฟัน เกี่ยวกับเครียดทำงาน จนเส้นประสาทอักเสบ หนักเลย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แห่ส่งกำลังใจ ‘มดดำ’ ป่วยหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ผลพวงเครียด นอนน้อย

เอาหล่ะ! อย่ากระนั้นเลย เรามาทำความรู้จักโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก โรคปากเบี้ยวหรือโรคไวรัสที่ปลายประสาทคู่ที่ 7 ตามแต่จะเรียก ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และทางป้องกันทำอย่างไรกันเถอะ

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 โดยภาวะปกติ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้าทั้งด้านบนและด้านล่าง เพราะฉะนั้น เวลามีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงไป เช่น หลับตาไม่สนิทข้างหนึ่ง ยักคิ้วไม่ได้ มุมปากตก เวลาดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกจากมุมปากด้านหนึ่ง

เส้นประสาทเส้นนี้เกี่ยวข้องกับการรับรสด้วย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยอาจจะมีการสูญเสียการรับรสของลิ้นด้านเดียวกับใบหน้าที่อ่อนแรงไป ในบางรายผู้ป่วยอาจจะได้ยินเสียงดังกว่าปกติจากหูข้างนั้น เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ไม่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ช่วยลดความดังของเสียงที่จะเข้ามาในหูข้างนั้น

ส่วนความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เกิดได้จากหลายสาเหตุ และยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

เพราะ…บางทีอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือจากเนื้องอก หรือจากสาเหตุอื่น ๆ โดยสมมุติฐานที่เป็นที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบันคือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส การศึกษามีไวรัสหลายตัว เช่น ไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคเริม ไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส รวมทั้งไวรัสตัวอื่น ๆ

กรณีที่เป็นการติดเชื้อไวรัส ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าใน 100 คนมีการติดเชื้อไวรัสสรุปทั้งหมดกี่คน ถ้าคิดว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ยกตัวอย่างเช่น ไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ตัวนี้หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก จะเข้าไปซ่อนที่ปมประสาท ซึ่งเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ก็มีปมประสาทอยู่ด้วยเหมือนกัน โดยไปซ่อนอยู่ วันดีคืนร้ายร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานลดลงก็ทำให้ป่วยได้

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสตัวนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เท่านั้น แต่สามารถกระทบกับเส้นประสาทเส้นอื่น ๆ ได้ เช่น เส้นประสาทไขสันหลัง ถ้าเป็นแบบนั้นก็เป็นโรคอย่างที่เราเรียกว่าเป็น “โรคงูสวัด” คนไข้จะมีตุ่มน้ำใส ผื่นที่ผิวหนังตามแนวของผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทเส้นนั้น ๆ

โรคนี้เป็นกันเยอะ ตามข้อมูลประมาณ 1 ใน 5,000 คนต่อปี

การป้องกัน ถ้าเราเชื่อว่าไวรัสจะออกมาตอนที่ร่างกายอ่อนแอ เราก็ต้องสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรง

หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วน : https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B5/

คลิปอีจันแนะนำ
“บุญรอด” ชีวิตที่พลิกผัน