เช็กด่วน! ลุกฉี่ตอนกลางดึกบ่อย ร่างกายเสี่ยงโรคไต เบาหวาน จริงหรือ?

เรื่องใกล้ตัวที่ต้องสังเกต การลุกฉี่บ่อยตอนกลางดึก เสี่ยงโรคไต และโรคเบาหวาน จริงหรือ?

เรื่องนี้ต้องรู้! การลุกฉี่บ่อยๆ ตอนกลางดึก หรือกลางคืน ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคภัยไข้เจ็บ

 

อีจัน แข็งแรง มีโอกาสได้อ่านบทความของ นพ.ศิริอนันต์ ประสิทธิ์ รพ. ศูนย์ยะลา จ. ยะลา ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “ดื่มน้ำตอนกลางคืนดีหรือไม่?” ขอย่อยมาเตือนกันแบบง่ายๆ ตามนี้นะคะ

เมื่อเข้านอนแล้วการลุกไปฉี่ 1 ครั้ง อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าต้องลุก 2 ครั้งขึ้นไปอาจมีปัญหา

นพ.ศิริอนันต์ เขียนไว้ว่า มีข้อมูลที่ศึกษาไว้ว่า คนที่ต้องลุกมาฉี่ หรือ ปัสสาวะกลางคืนมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง มีอัตราการหกล้ม ตามมาด้วยกระดูกหักมากขึ้น และยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การฉี่ตอนกลางคืนอาจเป็นสัญญาณของโรคไต และโรคเบาหวาน

อธิบายง่ายๆ  คือ น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย การควบคุมความสมดุลของน้ำมีกลไกที่ซับซ้อน หนึ่งในนั้นประกอบด้วยฮอร์โมน ซึ่งจะควบคุมการดูดกลับน้ำที่ไต ในตอนกลางคืนร่างกายจะเพิ่มการดูดกลับน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในตอนกลางคืนลดลง

แต่! คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าควรดื่มน้ำตอนกลางคืนเยอะๆ ก่อนนอนก็ต้องดื่มน้ำด้วยเพื่อร่างกายจะได้ไม่ขาดน้ำตอนกลางคืน บางคนตื่นมาฉี่แล้วก็ยังดื่มน้ำตามไปอีก เพราะกลัวร่างกายขาดน้ำ

รู้ไว้เลยว่า…ความเชื่อดังกล่าวผิด!

การดื่มน้ำตอนกลางคืนเยอะๆ จะทำให้มีปริมาณปัสสาวะตอนกลางคืนเยอะขึ้น ทำให้ต้องลุกมาฉี่บ่อยครั้ง

ทางแก้ คือ ควรงดการดื่มน้ำก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมง และควรฉี่ให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน เพื่อลดจำนวนครั้งในการตื่นลุกมาฉี่

แล้วฉี่วันละกี่ครั้งถึงเรียกว่าบ่อย ตลอด 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง ถ้าเราฉี่มากกว่า 8 ครั้ง หรือ กลางคืนลุกตื่นขึ้นมาฉี่มากกว่า 2 ครั้ง จะเรียกได้ว่า มีอาการฉี่บ่อย

อธิบายเพิ่มอีกนิด ทำไมการฉี่บ่อยตอนกลางคืน ถึงเสียงโรคไต และโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน  แปลตามตัว เบา แปลว่า ฉี่ หรือ ฉี่ที่มีน้ำตาลปน  โรคนี้ปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ จากการที่น้ำตาลพาเอาน้ำในร่างกายออกมาทางปัสสาวะด้วย

ส่วน “โรคไต”  เมื่อไตเสื่อม ความสามารถในการทำให้ปัสสาวะเข้มข้นระหว่างนอนจะลดลง ทำให้มีน้ำปัสสาวะที่เจือจางไหลมาสะสมในกระเพาะปัสสาวะ จนต้องมีการสั่งให้เราตื่นมาปัสสาวะกลางดึก

ลองสังเกตดูว่าในแต่ละคืนเราตื่นลุกมาฉี่กี่ครั้ง ถ้ามากกว่า 2 ครั้ง ก็ลองปรับตัวตามวิธีข้างต้น หรือสังเกตตัวเอง และสังเกตอาการที่นำมาสู่โรคอื่นๆ ด้วยนะคะ

อ้างอิง : https://www.tuanet.org/health-talk/%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7/

https://www.synphaet.co.th/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/