ศปน.ตร. เอาจริง เร่งถอนรากหนี้นอกระบบ ให้หมดจากสังคม

ศูนย์ป้องกันปราบปรามฯ หนี้นอกระบบเอาจริง! ลุยถอนรากถอน กำจัดมะเร็งร้ายของสังคม ลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน เผยมีรูปแบบใหม่-เจ้าหนี้ชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สังคมและการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการโดยเร่งด่วนให้จัดตั้ง ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ “ศปน.ตร.” ขึ้น โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานปราบปรามอาชญากรรมพิเศษงานนโยบายสำคัญเร่งด่วน และมอบหมายให้ พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์
ซึ่งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีภารกิจหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามและดำเนินคดีกับ ผู้มีอิทธิพล บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ มีลักษณะเป็นการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบประชาชน การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรือการกู้ยืมเงินที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน

ภาพจากอีจัน


แนวทางการทำงานของ ศปน.ตร. จะดำเนินการควบคู่กัน 2 ส่วน ทั้งส่วนกลาง และส่วนปฏิบัติการในพื้นที่ คือ
1.ฝ่ายปฏิบัติการส่วนกลาง มีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นหลัก ทั้งนี้มอบหมายให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) เป็นหน่วยรับผิดชอบ และมี กองบังคับการปราบปราม(บก.ป) กองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) เป็นหน่วยร่วมปฏิบัติการ
2.ฝ่ายปฏิบัติการหลักในพื้นที่ มอบหมายให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบในพื้นที่ โดยมี ผู้บัญชาการ เป็นหัวหน้า และเชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ฝ่ายปกครอง อัยการ สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ดินจังหวัด สรรพากรจังหวัด หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้สถานีตำรวจทุกแห่งจะสนับสนุนข้อมูล ประวัติ พฤติการณ์ของนายทุนตลอดจนผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


พลตำรวจโท ปิยะฯ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการไปในหลากหลายรูปแบบ เช่น ขณะนี้พบว่ามีกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามากระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการจำนวนมาก หรือล่าสุดขณะนี้ มีการเปิดเป็น Application เพื่อให้ประชาชนกู้ยืมเงินผ่านโทรศัพท์ โดยแอปพลิเคชั่นจะบังคับให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆในโทรศัพท์ เมื่อผิดนัดชำระหนี้ จะมีการทวงหนี้ โดยส่ง SMS ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความอับอาย เป็นต้น”
เรื่องดังกล่าวถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ขอให้ประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่ กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 022341068 หรือร้องทุกข์ได้โดยตรงที่ สถานีตำรวจทุกแห่ง หรือผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 191 และ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพจากอีจัน