เปิดคำพิพากษาศาลปกครองเพชรบุรี เพิกถอนคำสั่ง ปลดชัยวัฒน์ออกจากราชการ

คำพิพากษาศาลปกครองเพชรบุรี เพิกถอนคำสั่งกระทรวงทรัพย์ฯ ปลดชัยวัฒน์ออกจากราชการ ชี้ ให้ชัยวัฒน์กลับเข้ารับราชการตามเดิม

คำพิพากษาศาลปกครองเพชรบุรี ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

วันนี้(29 กันยายน 2565) ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ บ. 20/2565 ระหว่าง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ฟ้องคดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 1 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในการประชุมครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว มีมติชี้มูล ความผิดผู้ฟ้องคดี ในกรณีผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2562 และกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 85(3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และมีหนังสือฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2564 แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และคำสั่งของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาล มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ลับ ที่ ปป 0004/ป 61 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2564 เพิกถอนคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 และเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมทั้ง ขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564

ศาลปกครองเพชรบุรีวินิจฉัยสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้กระทำการทุจริตในภาครัฐ เหตุเกิดระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ผู้ฟ้องคดีว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2562 มาตรา 123/1 และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85(1) และได้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อ อ.ก.พ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ลงโทษ ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการนั้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิด วินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มิได้มีมติว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ราชการโดยทุจริต อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย ผู้ฟ้องคดีในความผิดฐานดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดี ในความผิดฐานอื่นจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ชี้มูลความผิด ทางวินัยผู้ฟ้องคดีในความผิดฐานอื่น จึงไม่ผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มาเป็นสำนวน การสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 หาได้ไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีตามที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและได้มีโอกาส ชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ลงโทษ ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ในความผิดทางวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551 โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีและมิได้แจ้งข้อกล่าวหา ดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้มีโอกาสโต้แย้งชี้แจงแสดงพยานหลักฐานและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามฐานความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่สั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มี ผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้คำสั่ง ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดี ออกจากราชการ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ยังคงมีผลบังคับต่อไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการ ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจในการดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี ให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ต่อไป

คลิปแนะนำอีจัน
เดือด! แท็กซี่เมาโกงค่าโดยสาร พุ่งพันกว่า