เปิดสูตรปรับ ครม. มี “ภูมิใจไทย” ยังไงก็คุ้มกว่า

การเมืองร้อนฉ่า! ยิ่งกว่าอากาศ กระแสปรับครม.กำลังระอุ มาเปิดสูตรรัฐบาลนายกฯอิ๊งค์ ว่าจะเป็นเช่นไร

คอลัมน์ : ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ

จั่วหัวด้วยการเฉลยตอนจบเลยว่า ไม่ว่าอย่างไร “เพื่อไทย”  กับ “ภูมิใจไทย” ก็ต้องอยู่ร่วมรัฐบาลกันไปแบบพี่น้อง “กาสะลอง ซ้องปีบ” จนกว่าจะสุดทาง เพราะไม่ว่าอย่างไร การมี “ภูมิใจไทย” ในรัฐบาลนี้ก็ดีกว่าไม่มี

หลายคนจับตาและคาดการณ์ว่าหลังสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2569 วาระแรก จบในราวเดือน พ.ค.รัฐบาลก็น่าจะถึงคิวที่ต้องปรับ ครม.

การปรับก็มีเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องทำให้การบริหารงานคล่องตัว การกระชับอำนาจ การกระชับความสัมพันธ์  การเสริมแกร่ง และการส่งสัญญาณว่าใครไม่ใช่คนที่จำเป็นอีกต่อไป

หากนับวันที่ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” รับตำแหน่งก็ผ่านไปแล้วเกือบหนึ่งปี และ รัฐบาลก็เหลือเวลาอย่างมากที่สุด 2 ปี ก็จะครบวาระและเลือกตั้งใหม่ ยกเว้นเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง

การปรับ ครม. จึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในวันที่ “เพื่อไทย” ไม่แข็งแกร่ง และ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกสั่นคลอน การปรับคณะรัฐมนตรีที่เป็น “นักบริหารประเทศ” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

หลายคนบอกว่าปรับเร็วเกินไปหรือไม่ แต่หากย้อนดูสมัย “ส.ท.ร.” ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ จะพบว่า ครม.”ทักษิณ 1” ปรับ ครม.ถึง 6 ครั้ง

แถมสถานการณ์เกี่ยวกับเสถียรภาพและความสัมพันธ์ในพรรคร่วมโดยเฉพาะกับ “ภูมิใจไทย” ก็ไม่สวยงาม  จึงไม่แปลกที่คนจะจับตาถึงการปรับ ครม. ครั้งนี้

แต่คำถามคือ การปรับ ครม. จะมีตัวแปรหลักที่ชื่อ “ภูมิใจไทย” หรือไม่

ก่อนจะพูดถึงการปรับ ครม. ต้องเข้าใจคณิตศาสตร์ทางการเมืองเสียก่อน ตอนนี้ สส. ในสภามีทั้งหมด 493 คน หากนับให้เกินกึ่งหนึ่งก็ต้องมี 247 เสียง

พรรคอันดับหนึ่ง ณ นาทีนี้คือพรรคประชาชน ที่มี สส. 143 คน อันดับสองคือพรรคเพื่อไทย 142 เสียง และ พรรคภูมิใจไทยมาเป็นอันดับสาม  69 เสียง

ในวันนี้ “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” รวมกันสองพรรคได้ 211 เสียง ส่วนที่เหลืออีก 107 เสียง เป็นของพรรคเล็กและพรรคกลางอื่นๆ

มีการอ่านคณิตศาสตร์การเมืองว่า หากความขัดแย้งหนักๆ ไม่มีภูมิใจไทย แต่ยังมีพรรคเล็กอื่นๆ เท่านี้ก็ยังเพียงพอนั่นก็คือมีเสียง  249  แต่จะอยู่ในระดับที่ “เสียงปริ่มน้ำ น้ำปริ่มคอ”

แต่ในทางการเมืองเรามั่นใจได้เลยว่าหากเป็นรัฐบาล ก็มีคนที่พร้อมจะกลายร่างเป็น “งูเห่า” เข้ามาเสริม  โดยเฉพาะวันนี้ “งูเห่า” ที่คนจับตาดูไปที่ “พลังประชารัฐ” หลังกลุ่มของ “ผู้กองธรรมนัส” เดินเกมอย่างหนัก

จับตากันว่าหากจะเอาจริงๆ อย่างน้อย 10 – 20 เสียงจากพรรคเก่าของเขาก็ไม่น่าใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แถมหากไม่มีโควตา รมต. ของภูมิใจไทย เก้าอี้เสนาบดีก็ว่างลงอีก 8 คน 9 ที่นั่ง   เรียกว่ามีเก้าอี้จัดสรรกันอย่างเหลือเฟือ

แถมถ้าอ่านเกมไปถึงการดำเนินคดีกับ  44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ ม.112 ก็เชื่อได้ว่า จะมี 25 สส. ปัจจุบันที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง และไม่มีใครมาทดแทนได้ เพราะพรรคก้าวไกลไม่มีอยู่อีกแล้ว ทำให้สภาจากเดิม 493 ก็จะเหลือแค่ 468 คน และเสียงกึ่งหนึ่งก็จะเท่ากับ 234 งานยิ่งง่ายกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

นี่จึงเป็นโมเดลที่หลายคนคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่ “ภูมิใจไทย”  จะถูกเขี่ยพ้นรัฐบาล

ก่อนที่จะมาดูว่าการมี หรือ ไม่มี “ภูมิใจไทย” ได้หรือเสียอย่างไร นักฝันอาจต้องเข้าใจว่า ต่อให้ไม่มี “ภูมิใจไทย” “เพื่อไทย” เองก็ไม่อาจจับมือกับ “ประชาชน” ได้ เพราะนาทีนี้เหมือนน้ำคนละสาย และยิ่งหากจับมือบอกได้เลยว่ากลุ่ม “ขวาเดิม”  รวมการเฉพาะกิจเดินหน้าโค่นรัฐบาลแน่ๆ ซึ่ง “เพื่อไทย” เองก็อ่านเกมตรงนี้ออก จึงปิดประตูการตั้งรัฐบาลร่วมกับพันธมิตรสมัยหาเสียง

เรามาดูว่า หากไม่มี “ภูมิใจไทย”  จะมีข้อดีอย่างไร  อย่างแรก รัฐบาลจะทำงานง่ายขึ้น

เพราะตอนนี้วันที่มีภูมิใจไทยอยู่ใครๆก็เห็นว่าใครกันแน่ที่กุมบังเหียนเรื่องต่างๆ  จนถูกเรียกว่า “ฝ่ายค้านในรัฐบาล”  แต่ถ้าไม่มีแล้ว พรรคที่ใหญ่สุดและกุมอำนาจเบ็ดเสร็จก็จะคือเพื่อไทยเท่านั้น  ยังพอมีโอกาสสร้างผลงาน

ข้อดีประการต่อมาคืออัตราต่อรองโควตารัฐมนตรีจะลดลง “เพื่อไทย” และ “พรรคร่วม” จะจัดสรรเก้าอี้ได้ง่ายขึ้นเอื้อต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้พวกเขาจะสามารถจัดการกับ “เสี้ยนหนาม” ในเวทีการเมืองได้ง่ายขึ้นไม่ต้องลูบหน้าปะจมูกเหมือนทุกวันนี้ และไม่ต้องเกรงอกเกรงใจกันต่อไป

นั่นคือข้อดีท แต่หากไม่มี “ภูมิใจไทย” ดูเหมือนว่า น้ำหนักข้อเสียจะหนักหน่วงกว่า

ต้องไม่ลืมว่าหมัดที่ “ภูมิใจไทย” มีในตอนนี้ล้วนแต่เป็นหมัดหนักระดับ “ไมค์ ไทสัน” ทั้งสิ้น  เช่น สว. ที่อยู่ในมือ นั่นหมายความว่า หากแยกทางกัน ถนนการตรวจสอบทั้งจาก สว. และองค์กรอิสระทุกสายจะมุ่งมาหารัฐบาล “เพื่อไทย” และแน่นอนว่า “อุ๊งอิ๊ง” คือเป้าหมายหลัก ซึ่ง “คุณพ่อทักษิณ” มิอาจยอมให้เกิดขึ้นได้

เรื่องต่อมาคือ “ภูมิใจไทย” มีนักการเมืองที่ได้ชื่อ “เก๋าเกม”  ที่สุดในประเทศนี้อย่า “ครูใหญ่เนวิน” อยู่ข้างหลัง

ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนกันว่าเขาไม่เกี่ยว เพราะการที่พรรคของ “เสี่ยหนู – อนุทิน ชาญวีรกูล” เดินหน้ามาถึงจุดนี้ก็มาจากการเดินหมากของ  “เนวิน” ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน

ไม่มีใครรู้ว่า วันนี้ “เนวิน” มีอะไรอยู่ในมือบ้าง ดังนั้นการเก็บคนแบบนี้ไว้ใกล้ตัวยังไงก็ปลอดภัยกว่า

ประการต่อมาคือ สถานะของ “ภูมิใจไทย” วันนี้คือตัวแทนกลุ่ม “ขวาใหม่”  ที่ชัดเจน และใช้การได้ หลังจาก “ขวาเก่า” ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือ รวมไทยสร้างชาติ ล้วนสิ้นสภาพแล้วทั้งนั้น  สำหรับการเมืองแบบไทยๆ การยืนตรงข้ามกับ “กลุ่มขวา” นั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เว้นแต่พวกเขาอยากจบอายุรัฐบาลเร็วๆเท่านั้น

และประการสุดท้าย “สองพรรค” ยังไม่พร้อมแตกหักหรือไปเลือกตั้ง เพราะวันนี้พวกเขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสู้ในสนามเลือกตั้งได้อย่างเต็มร้อย  จริงอยู่ที่นักการเมืองคือนักเลือกตั้ง

แต่พวกเขาก็ไม่ชอบการเลือกตั้งที่มาถึงโดยที่ไม่พร้อม ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ทั้งสองพรรคก็อยากอยู่ด้วยกันไปก่อน ส่งเสริมกันและกัน และการมี “ภูมิใจไทย” ก็ยังดีกว่าไม่มี

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้นับกันที่ “มีแล้วเป็นคุณ” แต่นับกันที่ “ไม่มีแล้วเป็นโทษ” มากกว่า  ทำให้สองพี่น้อง “กาสะลอง ซ้องปีป” ก็ต้องอยู่กันต่อไปอย่างนี้จนสุดทาง