
ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ
นาทีนี้คงไม่มีใครมีความสุขและมือขึ้นไปกว่า “ผู้กองมนัส – ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่วินทั้ง “การบ้าน” และ “การเมือง”
ไหนจะ “น้องชายคนสนิท” อย่าง “กัน จอมพลัง” ที่โกยคะแนนจากโลกโซเชียลไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าทำอะไรใครก็เฮโลตาม แถมมองเป็นฮีโร่ที่หาได้ยากในสังคมที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้

ขณะที่ “กัน” เองก็ไม่เคยเหนียมอายการมี “พี่ชาย” คนนี้ คิดดูว่าขนาดเปิดตัวว่าเป็น “น้องชาย” และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้กอง” ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ คิดดูว่าหากเป็นคนอื่นจะยับเยินขนาดไหน
นั่นเป็นเรื่องการบ้านที่แสนชื่นใจ ขณะที่การเมืองก็ต้องบอกว่า “ผู้กอง” กำลังมือขึ้นอย่างหนัก โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีธรรมราช ที่พรรคกล้าธรรมของเขาสามารถปักธงภาคใต้ได้ จริงอยู่ที่ก่อนหน้านี้มี ส.ส. ของพรรคกล้าธรรม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เลือกตั้งภาคใต้ในนาม “กล้าธรรม”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชัยชนะครั้งนี้นำโดยแม่ทัพอย่าง “ผู้กอง” เพราะ “ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ” ได้แยกทางกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่เคยเป็น “ทีมเด็กปั้น” ของ “ชัยชนะ เดชเดโช” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังเป็นลูกเขยของประชาธิปัตย์พันธุ์แท้อย่าง “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” แต่เขาก็ยอมแยกทางมาลงกับ “กล้าธรรม” และ “ผู้กอง” เองก็หนุนสุดขั้วในทุกทาง เพราะมีเดิมพันทางการเมือง และมีภารกิจที่ใครบางคนมอบให้เอาไว้
ต้องบอกว่านาทีนี้ไม่มี “ผู้จัดการ” คนไหนสเปกและฝีมือทางการเมืองเท่า “ผู้กอง” อีกแล้ว โดยใครคนนั้นที่มอบหมายภารกิจให้ก็ถึงขั้นจองเก้าอี้เสนาบดีไว้ให้แล้ว เพื่อเป็นรางวัล
ต้องบอกว่าการเอาชนะในพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่มีกระสุนก็เอาชนะได้ แต่ต้องมาจากการทำพื้นที่ ทำการบ้าน การหาเสียง การเข้าหาแกนนำ เรียกว่ากระสุนที่ยิงลงไปทุกลูกต้องล็อกเป้าที่หวังผลได้ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จ และไม่ใช่เรื่องฟลุก หากแต่เป็นเรื่องของความละเอียดและใส่ใจในทุกรายละเอียด ดังนั้นการจะปรามาสว่าชนะเพราะเรื่องใต้ดินก็ดูจะปรามาสกันเกินไป

หากสแกนดูคู่แข่งแล้วจะพบว่าเหลืออยู่แค่คนเดียว แม้จะมีผู้สมัคร 6 คนก็ตาม โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีชื่อชั้น 4 คน และกลุ่มสองคือกลุ่มมือรอง 2 คน โดย สองชื่อที่ถูกตัดทิ้งไปทันทีคือ “ว่าที่พันตรีทวี ไกรทอง” จากพรรคพร้อม และ “นายพิษณุ รสมาลี” จากพรรคทางเลือกใหม่ นี่ไม่ใช่การปรามาส แต่หากวัดกันที่ฐานคะแนนและความเป็นเบอร์ใหญ่พวกเขาไม่อาจสู้ได้
ส่วนอีกกลุ่มชื่อมีชื่อชั้นจากพรรคการเมือง คนแรกที่ถูกตัดทิ้งคือ “ณัฐกิตติ์ อยู่ด้วง” จากพรรคประชาชน ไม่บอกก็รู้ว่าพรรคนี้เป็นของแสลงสำหรับฐานเสียงใหญ่ขนาดไหน แม้การเลือกตั้งใหญ่จะได้กว่าหมื่นแต้ม แต่นั่นก็เป็นเพียงกระแส แต่พอมาถึงการเลือกตั้งซ่อมกระแสไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น
อีกคนที่ตอนแรกไม่มีใครกล้าตัด เพราะชื่อชั้นอย่าง “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ที่ลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นอดีตคงนอนมา แต่ปัจจุบันไม่ใช่
ต้องยอมรับความจริงว่านาทีนี้ “ประชาธิปัตย์” ไม่ใช่พรรคเบอร์หนึ่งของคนใต้อีกต่อไป ด้วยความที่พวกเขาไม่สามารถเป็นตัวแทนทางอุดมการณ์อะไรได้ชัดเจนอีกต่อไป
ไม่ว่าการไปร่วมกับ “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่กลุ่มหนึ่งบอกว่าเป็นนั่งร้านให้เผด็จการ แต่วันนั้นก็ยังพอหยวนๆ สำหรับคนพื้นที่ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล แกนนำพรรคปัจจุบันก็ไปร่วมกับรัฐบาล “เพื่อไทย” ซึ่งกลุ่มอุดมการณ์ส่วนหนึ่งพูดอย่างไม่เกรงใจว่า “เกลียดขั้วการเมืองเพื่อไทย” เข้ากระดูกดำ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยต่อสู้กลับไปเข้าร่วมจึงอยู่ในภาวะอกหักและตีตัวออกห่าง
ดังนั้นยิ่งผ่านไป ใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ “ชินวรณ์” เองก็ยิ่งเห็นสภาพของตัวเองและพรรคอันเป็นที่รัก แม้จะพยายามงัดไม้ที่คิดว่าเด็ดที่สุดอย่าง “เลือกชินวรณ์ เพื่อแสดงความรักนายชวน” แต่เรื่องแบบนี้มันก็เป็นเพียงแค่อดีตที่พัดผ่าน เพราะการกระทำของแกนนำพรรคนั้นหนักแน่นกว่า ที่สุดเขาก็พ่ายยับไม่เป็นท่า โดยเข้ามารั้งท้ายในกลุ่มบนด้วยคะแนนเพียงสี่พันคะแนน
ไม่ว่าใครก็บอกตรงกันว่า “หมดแล้วทั้งพรรคทั้งชินวรณ์” เพราะหากเป็นในอดีตชื่อนี้พรรคนี้อย่างต่ำก็ต้องได้มากกว่านี้สิบเท่า
จึงเหลือการขับเคี่ยวกับ “ไสว เลื่องศรีนิล” เท่านั้น ซึ่ง “ไสว” ก็เหมือนแชมป์เก่า เพราะเจ้าของพื้นที่เดิมแต่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็คือภรรยาของเขา “มุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล” นั่นเอง โดยมีต้นสังกัดคือพรรคภูมิใจไทย
ต้องบอกว่าพื้นที่ทางใต้พรรคภูมิใจไทย “ไม่เล็กนะครับ” เพราะมี ส.ส. กว่าสิบคน ภายใต้การนำของ “เสี่ยพีที” อย่าง “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” หากใครนึกไม่ออกว่าใหญ่ขนาดไหน เวลาไปภาคอื่นปั๊มที่เราเจอมากที่สุดอาจเป็น ป.ต.ท. แต่กับภาคใต้ก็คือ “ปั๊ม พีที” นี่เอง
แถมนาทีนี้ “ภูมิใจไทย” ยังกุมอำนาจรัฐอย่างกระทรวงมหาดไทย ภารกิจปักธงนี้จึงใหญ่หลวงนัก
แต่ก็อย่างที่บอก “ผู้กองมนัส” และทีมงานใช้ความละเอียดทุกเม็ดในการเดินเกม ทำให้แม้กระทั่งอำนาจรัฐก็ไม่อาจสร้างความได้เปรียบ ที่สุดพวกเขาก็คว้าเก้าอี้ ส.ส. มาไว้ในมือ เพิ่มเสียงให้รัฐบาลอีกหนึ่งเสียง แต่เป็นเสียงที่มีความหมายทางสัญลักษณ์ค่อนข้างมาก
บวกด้วยก่อนหน้านี้ที่มีการโหวตไม่ไว้วางใจ “ผู้กอง” ก็สามารถพา “งูเห่า” ออกมาจากพลังประชารัฐได้อีก ยิ่งทำให้สถานะทางการเมืองเขาแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก
แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ รัฐบาลส่งแข่งกันเอง ว่ากันตามจริงหากเป็นการเลือกตั้งซ่อม พรรคที่เป็นรัฐบาลจะหลีกทางให้กัน แต่ครั้งนี้แม้ “เพื่อไทย” จะไม่ส่งแข่ง แต่ก็ส่ง “กล้าธรรม” ที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้วให้ลงสนามแทน นี่จึงเป็นการประลองกำลังของ “กาสะลอง – ซ้องปีป” “เพื่อไทย – ภูมิใจไทย” อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลนี้
ถึงจุดนี้ทั้งสองพรรคอยู่ร่วมกันเพียงเพราะผลประโยชน์เท่านั้น ไม่เหลือความรักความเกรงใจกันอีกต่อไป หักได้เป็นหัก โต้ได้เป็นโต้ ขวางได้เป็นขวาง รอเพียงวันสุดทางเท่านั้น
ดังนั้นจากนี้หากมีการเลือกตั้งขึ้นก่อน หรือมีเรื่องทางการเมืองเราก็จะได้เห็นฝีมือของ “ผู้กองมนัส” และ “พรรคกล้าธรรม” ออกมาทำหน้าที่แทน “เพื่อไทย”
ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก็เหมือน “เพื่อไทย” ให้พรรค “กล้าธรรม” ทำงานให้ โดยแม้ไม่มีชื่อในพรรคโดยตรงแต่ก็ทำงานประหนึ่งคนใน ขณะที่ “เพื่อไทย” และ “กล้าธรรม” ก็สมประโยชน์ทั้งคู่
การกระทำเช่นนี้ก็เหมือน “ซับคอนแทร็กต์” หรือ “การจ้างช่วง” ในวงการธุรกิจรับเหมา
ไม่แค่การต่อสู้กับ “ภูมิใจไทย” เท่านั้น จากโมเดลการเลือกตั้ง “เมืองคอน” พวกเขาก็ใช้ยุทธศาสตร์ “ซับคอนแทร็กต์” เช่นกัน
กล่าวคือรู้ว่าไม่ว่าอย่างไรการปักธงในใจชาวใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ “คนใต้” บางกลุ่มมีเกราะในใจที่อ่อนไหวกับ “ทักษิณ – เพื่อไทย”
จึงเลี่ยงไปใช้ “กล้าธรรม” ที่ไม่ใช่ “ทักษิณ” หรือ “เพื่อไทย” ซึ่งอาจจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสบายใจมากกว่าในการเลือก
แม้ใครอาจมองว่าไม่ได้ผล แต่การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาก็ชี้ชัดว่าสนามภาคใต้ไม่ได้ปิดตายสำหรับพรรคอื่น แม้ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล “เพื่อไทย” ที่เหลือก็แค่ทำการบ้านให้ถูกจุด
ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า “ยุทธศาสตร์” นี้อาจถูกหยิบมาใช้ในอีกหลายๆ พื้นที่ก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ตกลงกันได้อย่างสมประโยชน์