3 เส้นทาง บิ๊กตู่ เมื่อต้องตัดสินใจ เดินต่อหรือพอ ?

3 เส้นทาง บิ๊กตู่ ครบวาระ 8 ปี เมื่อต้องตัดสินใจ เดินต่อหรือพอแค่นี้ ? อนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไร ?

จากหลากหลายกระแส มุ่งนับถอยหลังสู่วันที่ 24 ส.ค.นี้ หลายฝ่ายหลายด้านล้วนมองว่าเป็นวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี แม้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับคำร้องหรือมีคำวินิจฉัยใด ๆ แต่กระแสต่างพุ่งไปในประเด็นนี้ พร้อมตั้งคำถามที่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือจะหยุดวาระนายกรัฐมนตรีอยู่แค่นี้ โดยการดำรงตำแน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีความต่างออกไปจากยุครัฐบาลก่อน ๆ โดยเฉพาะอำนาจของ 250 ส.ว. (บทเฉพาะกาล) อาจเป็นกุญแจสำคัญ ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนในวิกฤตทางการเมือง ที่แตกต่างจากรัฐบาลอื่น

ในส่วนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวาระนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงคงต้องจับตา “อภินิหารทางกฎหมาย” เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาททางการเมืองอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ คดีถวายสัตย์ไม่ครบ คดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคดีพักบ้านหลวง ดังนั้น การยื่นตรวจสอบสถานะ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งใหม่จากเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญอีกครั้งของ รัฐธรรมนูญ ปี 2560

ช่องทางการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินไปในทิศทางไหน มีบทบาทวาระสำคัญอย่างไร

เส้นทางที่ 1

นับจากวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ถ้าการตีความตามผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะครบวาระ วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก

เส้นทางที่ 2

นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ถ้าการตีความตามผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะครบวาระ วันที่ 5 เมษายน 2568 และดำรงตำแหน่งนายกต่อไปอีก 3 ปี

เส้นทางที่ 3

นับจากวันที่เป็นนายก หลังการเลือกตั้ง วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ถ้าการตีความตามผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกได้อีก 1 สมัยถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยจะครบวาระ วันที่ 8 มิถุนายน 2570

บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ทั้งนี้ จากในบทรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีบัญญัติเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น โดยกำหนดไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” กล่าวคือ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ มากี่ครั้ง และไม่ว่าจะดำรงต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม แต่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ตลอดชีวิต

ซึ่งมีบทขยายความมาตราดังกล่าวไว้ใน เอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่า “การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนด ข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว”

อีกทั้ง ในเอกสารคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ยังระบุด้วยว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

ล่าสุด เครือข่ายนักวิชาการ “เสียงประชาชน” 8 มหาวิทยาลัย ตรวจสอบเปิดเสียงโหวตประชาชน 8 ปี “นายกฯประยุทธ์” ในวันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น มีการเปิดโหวตเสียงประชาชนในครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจฝ่ายตุลาการ หรือเป็นประเด็นข้อกฎหมายแต่อย่างใด เป็นเพียงคำถามที่ถามประชาชน โดยผลการโหวตมีผู้ตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ควร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จำนวน 348,511 โหวต คิดเป็น 93.17% และโหวตว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ควร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จำนวน 25,552 โหวต คิดเป็น 6.83%

ส่วนทิศทางการเมืองประเทศไทยจะเป็นเช่นใดนั้น แล้วด้านการตีความของทางศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะออกมาอย่างไร จับตาบทพิสูจน์รัฐธรรมนูญปราบโกง พรุ่งนี้ได้รู้กัน จับตาประเด็นร้อน อนาคตประเทศไทยไปพร้อมกัน

ขอบคุณ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 , เอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 , www.ilaw.or.th

คลิปอีจันแนะนำ
พระเอก หนุ่มเร่ร่อน ขอบคุณผู้มอบชีวิตใหม่