“วันนอร์” เผยเริ่มโหวตนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค.66

“วันนอร์” เผยเริ่มโหวตนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค.66 โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปราย 6 ชั่วโมง ก่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

การโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 วันที่ 13 ก.ค.66 เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนกำลังจับตา

วันนี้ (11 ก.ค.66) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนคณะกรรมาธิการสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) และตัวแทนจากพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค.นี้ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่จะทำให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ

นายวันมูหะมัดนอร์ คาดว่า จะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งก่อนการลงมตินั้น จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)อภิปรายก่อน โดยแบ่งเป็นเวลาของ ส.ส.ทุกพรรคการเมือง รวมกัน 4 ชั่วโมง โดยไม่กำหนดเวลาของ ส.ส.ผู้ที่จะอภิปราย และหากมีการพาดพิง ก็สามารถชี้แจงได้ในกำหนดเวลาที่เหมาะสม ขณะที่เวลาอภิปรายของ ส.ว. มีเวลา 2 ชั่วโมง

นายวันมูหะมัดนอร์ อธิบายขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯ ว่า จะมีการเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนด และพรรคการเมืองสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน จากนั้นจะมีการอภิปรายโดย ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติ ก็สามารถอภิปรายถึงความเหมาะสม คุณสมบัติ และเรื่องต่าง ๆ ได้ เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วก่อนมีการลงมติ หากมี ส.ส. หรือ ส.ว.เสนอให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน เนื่องจากข้อบังคับการประชุมไม่ได้กำหนดขั้นตอนนี้ไว้ จากนั้นจะเริ่มลงคะแนนแบบเปิดเผยด้วยวิธีการขานชื่อตามลำดับสมาชิกรัฐสภา 750 คน โดยบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด หรือ 376 เสียง

นอกจากนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ยังปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีที่หากรัฐสภาไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไปจะสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้อีกหรือไม่ โดยระบุว่าเนื่องจากยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การลงมติครั้งแรกผลจะเป็นอย่างไร หากไม่ผ่านก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินในอดีต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

คลิปอีจันแนะนำ
พิธา อัดคลิป ฝากข้อความถึง ส.ส.- ส.ว. ก่อนวันโหวตนายกฯ