ต้มดินทำเกลือสินเธาว์ ภูมิปัญญาโบราณสร้างรายได้ช่วงหน้าแล้ง

โคราช ชาวบ้านสืบทอดภูมิปัญญาโบราณ ต้มดินทำเกลือสินเธาว์ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวกว่า 50,000 บาท

ในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง ชาวบ้านที่อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา จะขูดผิวหน้าดิน ซึ่งเป็นดินเค็ม นำมาหมักกับน้ำ แล้วต้มเป็นเกลือสินเธาว์ ตามวิธีการที่สืบทอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณ ซึ่งเกลือที่ได้จะเป็นเกลือที่นำมาใช้หมักปลาร้า ได้รสนัว และเก็บไว้ได้นานไม่เสียง่าย ทำให้แต่ละปีชาวบ้านจะมีรายได้เสริมจากการขายเกลือหลายหมื่นบาท

อย่างเช่นที่ บ้านนาดี ตำบลโนนแดง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ในภาคอีสาน ที่ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่นาได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินเค็ม หรือที่คนในท้องถิ่นอีสานเรียกว่า ดินขี้กะทา ปะปนอยู่มาก ทำให้เมื่อปลูกพืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ชาวบ้านจึงต้องปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ความเค็มจะขึ้นมาอยู่บนชั้นผิวหน้าดินจนผลึกเกลือขาวโพลนไปทั่วบริเวณ

ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้จึงพากันทำอาชีพเสริม ด้วยการต้มเกลือสินเธาว์ขาย หารายได้เลี้ยงครอบครัว กลายเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 100 ปี โดยทุกปีหลังจากฤดูทำนาข้าวแล้วเสร็จ ชาวบ้านจะกระจายตัวกันไปตั้งกระท่อมต้มเกลืออยู่ทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ 20 ไร่ท้ายหมู่บ้าน

นายสุข เช่านอก อายุ 71 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการต้มเกลือสินเธาว์ บอกว่า หลังจากทำนาเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะพากันขูดผิวหน้าดินที่มีความเค็มนำมาเก็บไว้ แล้วขุดหลุมนำดินมาหมักกับน้ำเปล่า ก่อนจะกรองเพื่อให้ได้น้ำเค็ม หลังจากนั้น จึงนำน้ำมาตั้งไฟเคี่ยวบนกระทะสังกะสีนานประมาณ 1 ชั่วโมง จนเกลือตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ แล้วนำไปผึ่งให้แห้งก็จะได้เกลือสินเธาว์หรือเกลือดินพร้อมจำหน่าย

ซึ่งปัจจุบันเกลือที่ชาวบ้านผลิตได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากเกลือของชุมชนบ้านนาดี เป็นเกลือที่มีคุณภาพสูง ใช้หมักปลาร้าให้มีรสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่เพียงจำหน่ายแค่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ยังมีคำสั่งซื้อมาจากทั้งหลายจังหวัดในภาคอีสาน ทำให้แต่ละปีชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายเกลือในช่วงฤดูแล้ง 3-4 เดือน ประมาณ 30,000 – 50,000 บาทต่อปี

และสาเหตุที่ชาวอีสานไม่นิยมใช้เกลือที่วางขายตามท้องตลาดมาหมักทำปลาร้า เนื่องจากเกลือเหล่านั้นมีส่วนผสมสารไอโอดี ทำให้ปลาร้าเน่าเสียง่าย ชาวบ้านจึงนิยมใช้เฉพาะเกลือสินเธาว์ที่ผลิตแบบดั้งเดิมมาหมักทำปลาร้า ทำให้ปลาร้าไม่เน่าเสีย และมีรสชาติอร่อย เกลือสินเธาว์จึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดในท้องถิ่นแถบอีสานอยู่มาก แต่การผลิตยังทำได้น้อยเนื่องจากเมื่อฝนตก น้ำก็จะพาเอาความเค็มซึมลงไปในชั้นดินข้างล่าง ทำให้ไม่สามารถนำมาต้มเกลือได้