เกษตรกรตรัง แปรรูปข้าวเม่า สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นกว่า 3 เท่า!

เกษตรกร หนีปัญหานกแห่รุมกินข้าวในไร่ เร่งเก็บเกี่ยวข้าวระยะเม่า นำมาแปรรูป เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ราคาสูงกว่า 3 เท่า

ที่ ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นางสาวทัศนีย์ สุขสนาน เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดตรัง พร้อมนางอารีย์ สุขสนาน และนายสมบูรณ์ ประจงใจ แม่และสามี ซึ่งประกอบอาชีพ เกษตรผสมผสาน โดยมีการทำนา ทำไร่ปลูกข้าวด้วย โดยได้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวสายพันธุ์มะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอย ที่อยู่ในระยะเม่า เพื่อนำไปแปรรูปทำเป็นข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพ

โดยข้าวไร่ที่เห็นนี้ ปลูกแซมในสวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เพื่อเอาไว้กิน เหลือก็เอาไว้ขาย โดยปลูกข้าวทั้งหมดรวม 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์มะลิไร่ ข้าวหอมดง ข้าวเหนียวลูกผึ้ง ข้าวเหนียวดอกยง ในระยะเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้ข้าวทยอยสุกไม่พร้อมกันสะดวกในการเก็บเกี่ยว โดยพบมีการนำผ้ามาแขวนทำเป็นหุ่นไล่กา และขึงตาข่าย เพื่อดังจับนก ที่ลงมารุมกินข้าวในไร่นับตั้งแต่ระยะน้ำนม ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธี จึงเร่งเก็บข้าวที่เป็นระยะเม่า เพื่อนำไปแปรรูป ส่วนที่พ้นระยะเม่าก็รอเก็บเป็นข้าวเปลือกทั่วไป

นางสาวทัศนีย์ สุขสนาน เกษตรกรบอกว่า ข้าวทุกชนิดที่อยู่ในระยะเม่า หรือระยะพลับพลึง สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพได้ทั้งหมด โดยตนเองแปรรูปเป็นปีแรก ใช้ข้าวมะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอยที่ได้ระยะเม่าก่อนสายพันธุ์อื่น เป็นข้าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดน่าน เป็นผู้ปลูก โดยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชาวจังหวัดตรัง ได้ไปขอพันธุ์ข้าวมาปลูกเป็นครั้งแรก ที่อำเภอวังวิเศษ หลังจากนั้น ก็มีการขยายพันธุ์ต่อเนื่อง จนตอนนี้ข้าวมะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอย กระจายไปในหลายพื้นที่ของ จ.ตรัง

และในส่วนที่นำมาแปรรูป เรียกว่า เป็นข้าวระยะพลับพลึง หรือในพื้นที่เรียกว่าข้าวระยะดีข้าวเม่า คือ เป็นข้าวหลังจากระยะน้ำนม ไปประมาณ 7-10 วัน หรือโดยรวมประมาณ 120 วัน โดยจะเป็นช่วงที่เมล็ดข้าวมีแป้งน้อย หรือยังไม่ได้เป็นแป้ง จึงเอามาแปรรูปเป็นข้าวระยะเม่า หากพ้นระยะเม่าไปแล้วไม่สามารถจะนำมาแปรรูปได้ ส่วนสาเหตุที่เก็บข้าวในระยะดีเม่ามาแปรรูป เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ มีนก ซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญจำนวนมาก ต้องใช้คนออกไปเฝ้า ไปไล่ โดยมีแม่ออกไปดูแล พร้อมทำหุ่นไล่กา และทำตาข่ายดักจับ แต่ก็เอาไม่อยู่และเสียเวลา จึงลองศึกษาวิธีแปรรูป สุดท้ายจึงไปอ่านเจอผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช ก็เลยลองศึกษา และทดลองแปรรูป ปรากฏว่าได้เป็นข้าวตัวนี้ ทั้งนี้ เมื่อทำแล้วพบว่าสามารถต่อยอดจากราคาข้าวสารปกติได้สูงมากกว่าสามเท่าตัว

ทั้งนี้ ข้าวสารปกติซีลสุญญากาศ ทั่วไปขายกิโลกรัมละ 60 บาท แต่เมื่อแปรรูปเป็นข้าวระยะเม่า สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นกว่า 3 เท่า โดยในตลาดขายกิโลกรัมละ 195 บาท แต่ของตนเองจะขายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 165 บาท เพราะวิธีการทำหลายขั้นตอนมากทำต่อครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 วันประกอบด้วย นับจากเก็บข้าวระยะเม่าได้แล้ว จากนั้นนำไปนวด เมื่อนวดแล้วนำข้าวเปลือกที่ได้ไปใส่ในกะละมังใบใหญ่ลอยในน้ำ เพื่อคัดเลือกเอาส่วนที่เป็นฟางข้าวและเมล็ดลีบออก ส่วนที่เป็นเมล็ดข้าวสมบูรณ์ก็นำใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปนึ่งโดยใช้เตาถ่าน แต่ใช้ไม้ฟืนที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เพื่อประหยัดก๊าซหุงต้ม โดยนึ่งเตาแรกใช้เวลารวมประมาณ 20 นาที

จากนั้นเมื่อนึ่งเตาต่อๆไป จะใช้เวลาประมาณ 7-10 นาทีเท่านั้น เนื่องจากน้ำที่ต้มเดือดดีแล้ว เมื่อนึ่งข้าวเปลือกสุกแล้ว ก็นำมาเทใส่ถาด วางให้เย็น จากนั้นนำข้าวเปลือกที่ผ่านการนึ่งแล้ว ไปตากแดด หรือเข้าเตาอบ ใช้เวลาในการตากแดดประมาณ 2-3 วัน เมื่อได้แล้วก็นำไปเก็บไว้เหมือนกับการเก็บข้าวเปลือกทั่วไปได้นานนับปี แต่ทางครอบครัวไม่ได้เก็บ แต่เอาไปสีเป็นข้าวกล้อง เพื่อนำไปบรรจุถุงละ 1 กก.ด้วยวิธีการซีนสูญญากาศ ส่งขาย

ซึ่งในการขายนั้น มีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก เพราะเป็นข้าวที่อยู่ในระยะแป้งอ่อนมีจมูกข้าว และสารอาหารที่เคลือบเมล็ดยังคงอยู่ ผลการวิจัยพบว่า อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง 3 เท่าของข้าวกล้องทั่วไป มีสารสำคัญบำรุงสมอง ปริมาณโฟเลตสูง เบต้าแคโรทีน วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซิน และมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ให้นมบุตร ผู้ป่วย และทุกเพศ ทุกวัย ตอบโจทย์คนมีปัญหาสุขภาพ หรือรักสุขภาพ ปรากฏว่าเมื่อโพสต์ทาง Facebook ปรากฏว่า มีคนสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งในครั้งนี้สามารถทำได้ประมาณ 150 กก.เท่านั้น ไม่พอขาย แต่ในรอบต่อไป เมื่อข้าวสายพันธุ์อื่นอยู่ในระยะข้าวเม่า ก็จะนำมาแปรรูปอีก โดยที่ถุงจะบอกวิธีการหุงเอาไว้ด้วย ซึ่งหุงไม่ยาก เพราะเป็นข้าวที่นึ่งสุกแล้ว กลิ่นของข้าวที่ได้จะนุ่ม และมีกลิ่นหอมของข้าวเม่า หากไม่หุงสามารถเก็บในตู้เย็นได้

ทั้งนี้เฉพาะเข้าที่ปลูกไว้ทั้งหมด 12 ไร่ ถ้าเก็บเป็นข้าวเปลือกระยะเม่า จะได้ปริมาณน้อยกว่าข้าวเปลือกทั่วประมาณ 20 % โดย 1 ไร่ จะอยู่ที่ประมาณ 200 กิโลกรัม แต่ถ้าปล่อยให้สุกเป็นข้าวเปลือกทั่วไปจะได้ประมาณ 300 กิโลกรัม ประกอบกับวิธีการทำหลายขั้นตอน ทำให้ขายได้ราคาสูงกว่าข้าวสารทั่วไปกว่า 3 เท่า