“บิ๊กป้อม” ยังอุบ! พปชร. จะจับมือขั้วไหน ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม

“บิ๊กป้อม” ชี้ พปชร. จะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหน เป็นเรื่องที่ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม

ช่วงเกือบโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 พรรคการเมืองใหญ่ ๆ กำลังถูกจับตาว่า เมื่อรู้ผลเลือกตั้งแล้วจะมีการจับขั้วการเมืองกันอย่างไร พรรคไหนจะจับมือกับพรรคไหน

หนึ่งพรรคที่ถูกถามในประเด็นนี้มากคือ “พรรคพลังประชารัฐ”

ล่าสุด วันนี้ (19 เม.ย.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า จะ “จัดตั้งรัฐบาล”อย่างไร ใจความดังนี้

ดูจะยังเป็นประเด็นสับสน เกิดการพูดต่อๆ กันไปมากว่า “พลังประชารัฐ” คิดอย่างไรกับการ “จัดตั้งรัฐบาล”

การเมืองไทยตอนนี้มีความซับซ้อนครับ ผมจะค่อยๆ อธิบายให้ฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้น และผมคิดว่า

“การจัดตั้งรัฐบาล” ควรจะทำอย่างไร

ที่ว่า “การเมืองไทยขณะนี้ซับซ้อน” เพราะมีหลายปัจจัยที่นำมาใช้กำหนดความเป็นไปของอำนาจทางการเมืองในทุกเรื่อง

ตรงนี้มาพูดกันเฉพาะเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล

จะจัดตั้งกันอย่างไร ต้องเริ่มจาก “ผลการเลือกตั้ง”

มาดูกันว่าประชาชนเลือกพรรคไหนมาเท่าไร แต่ละพรรคมีส.ส.ได้รับเลือกเข้ามากี่คน เห็นตัวเลขแต่ละพรรคแล้ววางไว้ก่อน

มาสู่ขั้นตอน เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน

และได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา อันหมายถึง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 376 คน

ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนที่เป็นทางการขั้นตอนแรก

หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการหาความตกลงร่วมกันว่าพรรคไหนจะร่วมกับพรรคไหน ในวิถีที่ควรจะเป็นคือ จะต้องรวมกันแล้วมีเสียงส.ส.อย่างน้อยมมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกินกว่า 250 เสียง

ต้องพยายามหาทางให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คือเสียงส.ส.ร่วมสนับสนุนมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น

หากได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่คงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยากให้เป็นรัฐบาลแบบนี้

ขั้นตอนอย่างเป็นทางการเริ่มต้นอย่างนั้น ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน

แต่ในทางปฏิบัติจริง มีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาซับซ้อนกว่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น ความชอบธรรมของพรรคการเมือง ที่ได้ส.ส.มากที่สุด ต้องมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน

พรรคการเมืองต่างๆ จะแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันอย่างไร / ร่วมกับใครแล้วได้รับการตอบสนองข้อเสนอดีกว่า

 ใครคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ระหว่างอำนาจของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ อันไหนมีอิทธิพล หรือสามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า และอื่นๆ อีกมากมาย

หลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจเป็นเงื่อนไขที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ

คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไปไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น

มีข้อมูลที่จะพูดถึงการปรับเปลี่ยนของพรรคเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุดเสมอ

ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 ผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศตัวไว้อย่างหนึ่ง แต่พอถึงการจัดตั้งรัฐบาลจริง ต้องเข้าร่วมด้วยเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง

เช่น พรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่ยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

แต่พอถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมโดยหัวหน้าพรรคคนใหม่ แค่ให้คุณอภิสิทธิ์ลาออกไป โดยมีประโยชน์ของประชาชนมากมายมาใช้อ้าง

เช่นเดียวกับ “คุณอนุทิน ชาญวีรกุล” ให้สัมภาษณ์ในข่าวลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 ใจความสำคัญกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ลั่นอยู่คนละขั้วกับทหาร-พปชร. และได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ในเนื้อหาข่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่าเฉลยแล้วปี 62 จับมือพปชร.ตั้งรัฐบาลเพราะผมไม่อยากอยู่กับระบบคสช.

ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยประกาศเอาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง หากได้เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายก็รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ไม่ใช่เรื่องผิด หรือแปลกประหลาดอะไร อย่างที่บอกว่า หากมีประสบการณ์การเมืองมายาวนานเพียงพอจะรู้ว่า “นี่คือความปกติของการเมืองไทย”

แม้ว่าสื่อและสังคมไทยจะไม่ยอมรับก็ตาม

การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องสำคัญระดับ “จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร จะร่วมรัฐบาลกับใคร”

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม การตัดสินใจประกาศว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่รู้กันว่านั่นเป็นแค่การหาเสียง

ที่เป็นจริงคือการเจรจาด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า

ทุกคนในพรรคต้องร่วมกันประเมินอย่างรอบคอบ แล้วดำเนินการตามที่เรียกว่า “มติพรรค”

การบริหารการตัดสินใจของ “พรรคการเมือง”ต้องเป็นในนาม “มติพรรค” ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาทุบโต๊ะว่าพรรคต้องจัดการอย่างนั้นอย่างนี้

ดังตัวอย่างที่ยกให้เห็นว่า ขนาดพรรคที่สะสมความน่าเชื่อถือมามากมายที่สุดแล้ว แม้แต่หัวหน้ายังต้องลาออกหากไปประกาศอะไรที่เกินเลยจากมติพรรค

ความจริงทางการเมืองเป็นอย่างนี้

ทุกขั้นตอนต้องอาศัยการเจรจาในเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่เป็นปัจจุบันที่สุด

จะแตกต่างกันที่ เป็นพรรคที่ตัดสินเงื่อนไขเฉพาะหน้านั้นด้วยผลประโยชน์ของใคร

ดังนั้นคำถามตอบว่า “พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหน”

จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอให้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขเฉพาะหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปในนาม “มติพรรค”

ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาประกาศตัดสิน จะไม่เป็นเช่นนั้น

หากจะมีความเด็ดขาดแน่นอนก็คือ “พลังประชารัฐ” จะตัดสินใจทุกเรื่อง ทุกอย่างด้วยเหตุผลต้องร่วมกัน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”

ด้วยความเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะพาประเทศสู่การพัฒนาที่สร้างโอกาสแห่งความสุขให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมได้

ขอให้เชื่อมั่นว่า “เราจะตั้งรัฐบาลที่เป็นความหวังของประเทศอย่างดีที่สุดได้”

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

หัวหน้าพรรค – ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 – แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ

คลิปแนะนำอีจัน
ตร.เบิกตัว 4 ผู้ต้องหาคดีอุ้มจีนแยกสอบปากคำ #อุ้มจีนยัดกล่องเรียกค่าไถ่