กรมวิทย์ฯ เผย สูตรฉีดวัคซีนไขว้ กระตุ้นภูมิสูงกว่าสูตรปกติ

กรมวิทย์ฯ ยัน! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้าเซเนก้า กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง สู้เดลตาได้

เมื่อวานนี้(19 ส.ค. 64) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน

โดยทำการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 

กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับวัคซีน CoronaVac หรือวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV)                        

กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม (AZ+AZ) 

กลุ่มที่ 3 ได้รับ วัคซีนซิโนแวค และตามด้วย วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (SV+AZ) 

กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca ) และตามด้วย วัคซีนซิโนแวค (AZ+SV) 

กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีนซิโนแวค  2 เข็มและตามด้วย วัคซีนซิโนฟาร์ม 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm) 

กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1 เข็ม (SV+SV+AZ) 

ผลการศึกษา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2  หรือ เชื้อโควิด สายพันธุ์เดลตา มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาการให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV)  และเทียบเท่ากับการให้ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม  (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีดแอสตร้าเซเนก้า เข็มแรกและตามด้วยซิโนแวค (AZ+SV) ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซเนก้า (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า ในขณะที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยซิโนฟาร์ม (SV+SV+Sinopharm) ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า

จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซเนก้า (SV+SV+AZ) การศึกษาต่อไป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบตา โดยใช้ไวรัสจริงเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมโดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

คลิปอีจันแนะนำ
{“src”: “ee51e42c-c314-44ee-946c-440a65cd4fb7”}