การสื่อสาร ยุคโควิด ต้องวางแผน รวดเร็ว ลดขั้นตอน ทันเหตุการณ์

สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร “การบริหารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ “ (Strategic PR Management) รุ่นที่ 14 จัดเสวนา การสื่อสาร ยุคโควิด ต้องวางแผน รวดเร็ว ลดขั้นตอน ทันเหตุการณ์

สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตร “การบริหารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ “ (Strategic PR Management) รุ่นที่ 14 จัดเสวนา การสื่อสาร ยุคโควิด ต้องวางแผน รวดเร็ว ลดขั้นตอน ทันเหตุการณ์ เพื่อเป็นเวทีสะท้อนมุมมองจากนักวิชาการและสื่อมวลชน นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขปัญหาแนวทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเกิดความร่วมมือของประชาชนเพื่อฝ่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

ซึ่งเพจอีจัน ได้รับเกียรติเป็นผู้แทนร่วมเสวนา ในฐานะสื่อออนไลน์และภาคประชาชน โดยบรรณาธิการเว็บไซต์อีจัน ร่วมเป็นวิทยากร ระบุว่า การสื่อสารควรมีมากกว่าทางเดียว ควรสื่อสารแบบสองทาง โดยคำนึงถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก่อนนำเสนอ ต้องรวดเร็ว สั้น กระชับ เข้าใจง่าย เหมือนเป็นการบอกเล่าพูดคุยกับเพื่อน อีกทั้งหน่วยงานควรวางตัวบุคคลที่จะสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ ต้องแก้ไขวัฒนธรรมองค์กรให้สื่อสารได้รวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอน และใช้ศัพท์ที่เข้าถึงง่าย ต้องสื่อสารให้คนฟังเข้าใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องทันการณ์ และฝากคนนำเสนอข่าว เสนอข้อมูลความจริงให้ทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม โดย รศ. ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า การวางแผนสำคัญที่สุด สำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤติ มีด้วยกัน 3 ระดับ คือ สื่อสารเรื่องทั่วไป สื่อสารเรื่องสำคัญ และสื่อสารในภาวะวิกฤติ การสื่อสารไม่ว่าในภาวะปกติหรือในภาวะวิกฤติ ต้องมี 3 อย่าง คือ ต้องมีการวางแผน ต้องมีผู้ปฏิบัติตามแผนที่เหมาะสม และต้องมีความน่าเชื่อถือ

ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์​ ครุจิตที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร​ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา​ ​2019 ​(ศบค.) กล่าวว่า การสื่อสารต้องมีทั้ง 2 องค์ประกอบคือ Operation และ Communication การสื่อสารอย่างเดียว จะไม่สามารถแก้วิกฤติได้ และยังเสนอหลักการต่อสู้กับ Fake News ในการแพร่ระบาดระลอกที่สอง คือ หลัก 4 F คือ Fast ความเร็ว Fact ความจริง Frame การตั้งประเด็นเพื่ออธิบาย แต่ทั้งหมดนี้ต้องอาศัย F ตัวที่ 4 คือ Function คือ ต้องมีผู้รับผิดชอบเรื่องข่าวปลอมแต่ละหน่วยงานด้วย

อาจารย์ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร ศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์​ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การสื่อสารควรสื่อความจริง และเป็นประโยชน์ หากไม่ครบ 2 อย่างนี้อย่าสื่อไป ควรสื่อสารถึงอดีตให้ชัดเจน สื่อสารเรื่องปัจจุบันให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของสถานการณ์ และสื่อสารถึงอนาคตให้เห็นว่าจะก้าวต่อไปอย่างไรร่วมกันบนความไม่คาดหวัง

และ นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ รองประธานกรรมการ บมจ.จีเอ็ม มัลติมีเดีย บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อมูลของรัฐต้องเร็วกว่าความสงสัยของประชาชน วิกฤติโควิด ต้องไม่นำไปสู่ความวิบัติด้านการสื่อสาร วิกฤติขณะนี้เป็นวิกฤติของประชาชน ภาครัฐไม่ควรสื่อสารในเชิงตำหนิประชาชน ผู้นำต้องรู้ว่า อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด ที่สำคัญ การสื่อสารในภาวะวิกฤติ ไม่จำเป็นต้องพูดความจริงทั้งหมด แต่ต้องไม่โกหก