“หมอยง” ชี้ เจ็บคอ ไอแห้ง เสียงเปลี่ยน รีบตรวจ ATK

“หมอยง” ชี้หากมีอาการเจ็บคอ ไอแห้ง เสียงเปลี่ยน รีบตรวจ ATK เหตุความรุนแรงโควิดสายพันธุ์ BA.5 น้อยลง รับเป็นการระบาดระลอก 6

วันนี้ (17 ก.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ถึงอาการของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันที่ทำให้ต้องสงสัยว่า การระบาดในช่วงหลังนี้ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง คนไข้ส่วนใหญ่ จะมีอาการเจ็บคอ ไอแห้ง ๆ และเสียงเปลี่ยน ส่วนบางรายเท่านั้นที่มีไข้ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก คัดจมูก ในเด็กบางคนมีไข้สูงแต่ไข้ที่ขึ้นสูงจะเป็นเพียงแค่ 1 หรือ 2 วัน ส่วนการไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส พบน้อยลงมาก

ทั้งนี้ ถ้ามีอาการดังกล่าวในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเจ็บคอ ระคายคอ ไอแห้ง ๆ มีเสียงเปลี่ยน มีน้ำมูกหรือคัดจมูก ควรจะต้องตรวจ ATK เพื่อจะได้รีบรักษา และแยกตัวเพื่อลดการระบาดของโรคในทันที ไม่ต้องรอให้มีอาการเหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ยังโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 65 โดยระบุว่า การระบาดของโควิด 19 ระลอกนี้นับเป็นระลอกที่ 6 โดยเป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน BA.5 โดยจะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้และตลอดเดือนสิงหาคม ซึ่งนักเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเปิดเทอมหมด และจะเริ่มลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม ซึ่งทุกอย่างต้องเดินหน้า ด้วยมาตรการให้ความสำคัญในการลดการติดเชื้อ และจะไม่มีการ ปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียน แล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ

จำนวนผู้ป่วยถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือน่าจะ เป็น 0.1% หรือน้อยกว่าของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ย้อนดูการระบาดทั้ง 5 ระลอกของโควิด

การระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 ที่สนามมวยและสถานบันเทิง เป็นจุดเริ่มต้น มีผู้ป่วยเป็นหลักสิบ สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น

การระบาดระลอกที่ 2 เกิดเริ่มต้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว กลางเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยเป็นหลักร้อยต่อวัน สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ G

การระบาดรอบที่ 3 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 เริ่มจากสถานบันเทิงที่ทองหล่อ โดยนำเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ หรือต่อมาเรียกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า มีผู้ป่วยเป็นหลักพัน ต่อวัน

การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นหลังจากการระบาดด้วยสายพันธุ์แอลฟาเริ่มลดลง ก็มีสายพันธุ์อินเดีย หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์เดลต้า เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และอยู่จนถึงปลายปีจึงเริ่มลดลง

การระบาดในระลอกที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ 2565 ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน โดยเริ่มจาก BA.1 แล้วตามด้วย BA.2 มีผู้ป่วยหลายหมื่นคนต่อวัน เมื่อค่อย ๆ ลดลง และลดลงมาจนถึงต้นเดือนมิถุนายน

พอกลางเดือนมิถุนายน ก็มีการระบาดระลอกใหม่ เป็นรอบที่ 6 ที่เป็นสายพันธุ์ BA.5 และในช่วงนี้ เกิดการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า ขณะนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่หลักหมื่น และมีการนอนโรงพยาบาล ตามตัวเลขที่ประกาศ ประมาณ 2,000 คน เสียชีวิต 20 คน หรืออัตราการเสียชีวิต น่าจะอยู่ที่หนึ่งในพันของผู้ติดเชื้อ น้อยลงกว่าการระบาดในระลอกแรก ๆ

สำหรับวันนี้ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่า วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2565

มีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 2,028 ราย

ผู้ป่วยสะสมกำลังรักษา 23,299 ราย

เสียชีวิต 18 ราย

เสียชีวิตสะสม 9,298 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)