อัปเดต สถานการณ์โควิด-19 เส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ โรคประจําถิ่น

ติดตาม สถานการณ์โควิด-19 เส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ โรคประจําถิ่น ผ่านอะไรกันมาบ้าง เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในไทยอะไรบ้าง ก่อนจะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป

สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศทั้ง 2 ฉบับ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 มีผลยกเลิก โควิด จากโรคติดต่ออันตราย แล้วกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป

สธ. ยกเลิก โควิด จากโรคติดต่ออันตราย เริ่ม 1 ต.ค.นี้

สำหรับจุดเริ่มต้นการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 , โควิด-19) โดยมีสาเหตุมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน  องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในวันที่ 30 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) และต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 ประกาศการระบาดทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดการระบาด

อีกทั้งตั้งแต่มีการรับวัคซีน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนชุดแรกได้นำส่งมาถึงประเทศไทย เป็นวัคซีนของซิโนแว็กชื่อ โคโรนาแว็ก (CoronaVac) และของแอสตราเซเนกา (AZD1222) รวมทั้งหมด 317,000 โดส วัคซีนล็อตแรกของซิโนแว็กถูกกระจายไปใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากรายงานผลสรุป ผู้รับวัคซีนตั้งแต่ปี 2564 – 2565 โดยมีผู้ได้รับฉีดวัคซีนแล้ว 143,215,264 โดส แบ่งออกเป็น เข็ม 1 สะสม 57,312 , 929 ราย เข็ม 2 สะสม 53,814,735 ราย เข็ม 3 ขึ้นไป สะสม 32,087,600 ราย

ขณะเดียวกันก็มีการพบการกลายพันธุ์ไปตามสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทยเองก็มีการรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์เข้ามาจากที่ต่าง ๆ และมีการแพร่ระบาดอยู่หลากหลายสายพันธุ์

อัปเดต ‘สายพันธุ์โควิด-19’ ในไทย

โควิดสายพันธุ์ S (Serine)

รหัสไวรัส: S หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยระบาดระลอกแรกในไทยเดือนมีนาคม 2563 จากคลัสเตอร์สนามมวยที่ลุมพินี ราชดำเนิน และอ้อมน้อย

โควิดสายพันธุ์อัลฟ่า

รหัสไวรัส: B.1.1.7 หรือ สายพันธุ์อังกฤษ พบครั้งแรกที่เมืองเคนต์ในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ก่อนจะเข้ามาระบาดในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 และแพร่ระบาดอย่างหนักจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ปัจจุบันเป็นสายพันธ์ุหลักที่ระบาดไปแล้วกว่า 138 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นมากถึง 40-70% และยังเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 30%

โควิดสายพันธุ์เบต้า

รหัสไวรัส: 501Y.V2 หรือ B.1.351หรือ สายพันธุ์แอฟริกา พบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เมืองอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 พบครั้งแรกในไทยที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สำหรับสายพันธุ์เบต้าพบว่ามีอัตราการแพร่เชื้อไวขึ้น 50% จากสายพันธุ์เดิม อีกทั้งมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ จึงทำให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อแล้วก็จะยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ซ้ำได้อีก

โควิดสายพันธุ์เดลต้า

รหัสไวรัส: B.1.617.1 หรือ B.1.617.2 หรือ สายพันธุ์อินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศอินเดีย ก่อนจะมีการกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยสายพันธุ์นี้สามารถจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่า จึงระบาดเร็ว โดยในประเทศไทยพบครั้งแรกที่คลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ และเป็นสายพันธ์ุหลักที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงในบ้านเราอยู่ขณะนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า พลัส ซึ่งทำให้ผู้ที่สัมผัสเชื้อติดเชื้อง่ายกว่าเดิม ทั้งยังหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี

โอไมครอน

รหัสไวรัส: B.1.1.529 หรือ โอมิครอน คือ โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ถูกค้นพบครั้งแรกในแถบแอฟริกาใต้ในช่วงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกระจายไปหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราการระบาดค่อนข้างรวดเร็วหลังพบผู้ติดเชื้อชาวอเมริกันที่บินจากสเปน แวะดูไบ ก่อนเข้าไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันอย่างมาก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยมักติดเชื้อในลักษณะที่เป็นระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอด จึงทำให้มีอาการป่วยไม่รุนแรงมาก

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย

อาการของโควิดสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากสายพันธุ์โอมิครอน อาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์นี้ได้แก่ “อ่อนเพลีย เหนื่อย, ไอแห้ง, เจ็บคอ, ไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และถ่ายเหลว” จากข้อมูลการสำรวจผู้ติดเชื้อโควิด (สำนักงานสาธารณสุข ประเทศฝรั่งเศส ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค. 2022) เปรียบเทียบอาการระหว่างสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 กับสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบว่า อาการที่พบส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไอ และมีไข้ รองลงมาคือ อาการ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว ตามลำดับ

โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75

วันที่ 25 ก.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.ตรัง ซึ่งมีการตรวจรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์ในภายหลังพบว่าเป็น โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 หลังจากเก็บตัวอย่างส่งตรวจเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา และยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม ถือเป็นสายพันธุ์นี้รายแรกในไทย

ทั้งนี้ตราบใดที่โควิด-19 ยังคงไม่หมดไปจากบ้านเรา การดูแลและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดก็ยังมีความจำเป็น ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่สาธารณะหากไม่จำเป็น เหนือสิ่งอื่นใด ควรหมั่นรักษาสุขภาพ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่าย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบไปตรวจโควิดทันทีเพื่อจะได้ทราบผลและหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที

ล่าสุด ในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ในภาพรวมทั่วโลก มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มของผู้เสียชีวิตลดลง

ศบค. จึงเห็นควรให้พิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ นรม. และ ครม. ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลใน วันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

ศบค. มีมติ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ มีผล 30 ก.ย. นี้

ส่วนด้าน นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศุนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ไว้ว่า การเปลี่ยนเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังทำให้เราสบายขึ้นเยอะ เพราะทุกอย่างผ่อนคลายเกือบหมด แต่อยากย้ำว่าเรายังต้องดูแลตัวเอง เพราะยังมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ซึ่งเราไม่อยากให้มีใครเสียชีวิต ต้องให้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่านี้ ตนเชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนจึงต้องดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยงตนเอง สามารถถอดหน้ากากได้หากอยู่ในที่โล่ง

อีกทั้งที่ปรึกษา ศบค.กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ไม่ใช่เรื่องที่เรากังวล เพราะเรียนรู้จากโควิดมา 3 ปี มีระบบที่รองรับได้ แต่หลังจากวันที่ 1 ต.ค.ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศบค.หมดไป การประชุม ศบค.ครั้งนี้จึงจะคุยกันว่า จะมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ยังทำงานโดยบูรณาการร่วมกัน โดยใช่มติ ครม.ไปก่อน และระยะยาวเราได้แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อที่มีโครงสร้างบางส่วนคล้าย ศบค.จะได้ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าสภา ที่ผ่านมาเคยเสนอนายกฯ ออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อเพื่อใช้ไปก่อน ทั้งนี้ ยืนยันหลังวันที่ 1 ต.ค.จะไม่เกิดสุญญากาศ กระทรวงต่างๆ ยังทำหน้าที่ การทำงานจะไม่มีปัญหา แต่อาจไม่เข้มข้นเหมือนตอนมี ศบค.

ถึงแม้ว่าภาพโดยรวมสถานการณ์จะดูเบาบางลงก็ตาม แต่จันก็อยากฝากให้ทุกคนไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองอยู่เสมอ รักษาสุขภาพให้พร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลาเพราะเราไม่อาจคาดได้เลยว่า ข้างหน้าจะมีอะไรเลวร้ายหรือดีขึ้นแค่ไหน แต่อย่างหนึ่งจันหวังว่าเราที่ผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายมาได้ขนาดนี้ ก็คงพร้อมรับมือได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูล เมดิคอลไลน์ แล็บ , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ,

คลิปอีจันแนะนำ
เปิดใจเหยื่อ บัญชีม้า เกือบพากันตายยกครัว!