มูดี้ส์ หั่นมุมมองแบงก์ 7 แบงก์ไทย เป็น ติดลบ ตามรัฐบาลมาติดๆ

ถึงคราวสถาบันการเงิน มูดี้ส์ไม่ไว้หน้า ปรับลดมุมมอง 7 แบงก์ไทยเป็นเชิงลบ หลังจากปรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์

Moody’s Investors Service หรือ มูดี้ส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสหรัฐฯ ได้ปรับลดมุมมอง (outlook) อันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินไทย 7 แห่งเป็นลบ (negative) หลังหั่นมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย (sovereign rating outlook)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา มูดี้ส์ เรทติ้งส์ (Moody’s Ratings) ได้ปรับลดมุมมอง (outlook) ความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินไทย 7 แห่งเป็นลบ (negative) จากคงที่ (stable) ได้แก่

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)
บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (SCBX)
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB)

โดย มูดี้ส์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจาก มูดี้ส์ปรับลดมุมมองแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับรัฐบาลไทยจาก Stable มาที่ Negative แม้ว่าจะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับเดิม โดยอันดับเครดิตสำหรับ Issuer และ Local Currency Senior Unsecured Ratings ของรัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่ระดับ Baa1 เช่นเดียวกับ Foreign Currency Commercial Paper Rating ที่ยังคงอยู่ที่ระดับ P-2

การปรับลดในครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยที่อ่อนแอลงอีก ท่ามกลางภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของโลกที่เพิ่มมากขึ้น ภูมิหลังทางเศรษฐกิจมหภาคที่เสื่อมถอยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโปรไฟล์เครดิตของธนาคารไทย ซึ่งประสบปัญหาอยู่แล้วจากการเติบโตของสินเชื่อและปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา นอกจากนี้ยังอาจทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถให้การสนับสนุนธนาคารต่างๆ เมื่อจำเป็นได้

หากอันดับเครดิตของประเทศไทยถูกปรับลด จะส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยทั้ง 7 แห่งที่กล่าวถึงข้างต้นได้รับการปรับลดอันดับไปด้วย เนื่องจากสถาบันรับฝากเงินระยะยาวและ/หรือผู้ออกตราสารเหล่านี้มีการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น และ/หรือ อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของประเทศ