
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี2568 จากเดิมคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายที่ระดับ 3% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก จะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ สศค.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยล่าสุด คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.1% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.6% ถึง 2.6% สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก ทำให้ประเทศคู่ที่สำคัญของไทย เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบาย Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน นับจากวันที่ 9 เม.ย.2568 และกรณียกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐ ได้บรรเทาผลกระทบของการส่งออกของไทยลงบางส่วน ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะทรงตัวที่ 1% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 0.5% ถึง 1.5% สอดคล้องกับความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพื่อส่งออก และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง
นายพรชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ โชคดีที่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี โดยคาดว่า จะขยายตัวที่ 3.2% ต่อปี ตามกำลังซื้อในประเทศและรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยคาดว่า ปีนี้ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย 36.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 0.4% ต่อปี
สำหรับการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี จากการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 3–4 ของปีงบประมาณ 2568 คาดว่า จะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายทั้งงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงอยู่ที่ 0.8% ต่อปี ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2568 มีแนวโน้มเกินดุล 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.2% ของจีดีพี จากดุลการค้าที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยผ่านทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว กระทรวงการคลังได้เตรียมตัวรับมือและบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่
1.ดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
2.เตรียมแหล่งเงินเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีขนาดเหมาะสม
3.เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี 2568
4.ผลักดันความช่วยเหลือผู้ส่งออกผ่าน EXIM Bank
และ 5.บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการดูแลกลุ่มเปราะบางและกิจการขนาดเล็ก
นอกจากนี้ สศค. ยังติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่ นโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ การไหลเข้าของสินค้าที่ได้รับผลกระทบด้านภาษีที่ย้ายตลาดเข้าสู่ไทย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก การย้ายฐานการลงทุน/การผลิต ความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และปัญหาหนี้ครัวเรือน/ภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต