วัยรุ่นจีนแห่จอง “ของเล่นทองคำ” ยอดขายพุ่งกระฉูด

วัยรุ่นจีนทำถึง! ยอดสั่งผลิต “ของเล่นผสมทองคำ” ล้นทะลัก สวนทางตลาดทองคำทั่วไป นับเป็นการกระตุ้นยอดผลิตในจีน – แบรนด์ดังแห่ตีตลาด

วันนี้ (1 พ.ค. 68) เฟซบุ๊ก Jeenthainews – จีนไทยนิวส์ ได้เผยความเคลื่อนไหวของตลาดทองคำ ในประเทศจีน หลังกำลังเกิดกระแส “ของสะสมยุคใหม่” โดยกลุ่มวัยรุ่นจีน ที่สั่งผลิตของเล่นโดยใช้วัสดุแบรนด์ทองคำควบคู่กับลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ตลาด “สินค้าทองคำ” สร้างยอดขายได้มากกว่าตลาดทองคำทั่วไป  

โพสต์ระบุว่า

เมื่อทองคำไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับ หรือสินทรัพย์เก็บออมอีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็น “ของสะสมยุคใหม่” ที่เชื่อมต่ออารมณ์และวัฒนธรรมป๊อปเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่มีพลังซื้อสูง ซึ่งตอนนี้เริ่มเข้ามาแทนที่ “กลุ่มคุณป้า” ผู้เคยเป็นกำลังหลักในการซื้อ 

แม้ราคาทองจะพุ่งสูงเกิน 1,000 หยวน (ราว 4,600 บาท) ต่อกรัมในบางช่วง ทำให้ตลาดทองคำจีนโดยรวมซบเซาลงถึง 25% แต่กลับกัน สินค้าทองคำประเภท “กำหนดราคา” (เช่น สินค้าแฮนด์เมด ลิมิเต็ด หรือสินค้าลิขสิทธิ์) กลับเติบโตสวนทาง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายอายุ 18-34 ปี ที่ตอนนี้สร้างยอดขายมากกว่าหนึ่งในสามของตลาด 

จากเครื่องประดับสู่ของเล่นสะสม “ทองคำ” ถูกรีแบรนด์โดยฝีมือของโอตาคุ 

เพื่อดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ แบรนด์ทองเริ่มใช้กลยุทธ์ “ตีคู่ลิขสิทธิ์ + วัฒนธรรมป๊อป” ออกคอลเลกชันแบบจัดเต็ม ตั้งแต่ทองคำฟิกเกอร์, ทองคำสติกเกอร์ติดมือถือ, การ์ดทองคำ ไปจนถึงการเปิดให้แฟนคลับรวมกลุ่มกัน “สั่งทำพิเศษ” อย่างเช่น “Pain Gold” ซึ่งหมายถึงสินค้าทองคำที่มีลิขสิทธิ์ ตัวละครในสไตล์โอตาคุ 

ตัวอย่างล่าสุดคือการเปิดตัวฟิกเกอร์ทองคำหนัก 666 กรัมจากการ์ตูนเซนต์เซย่า โดย Lao Feng Xiang (老凤祥) ที่ตั้งราคาสูงถึง 880,000 หยวน (ราว 4.04 ล้านบาท) จำกัดเพียง 30 ชิ้นหรือซีรีส์ “ทองคำกันดั้ม” น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ที่สร้างความฮือฮาในหมู่แฟนคลับและนักสะสม 

ไม่เพียงแค่แบรนด์หรู ในกลุ่มราคาย่อมเยาก็มีการผลิตสินค้าขนาดเล็ก เช่น ทองคำขนาดต่ำกว่า 1 กรัม ทองคำการ์ด ทองคำพวงกุญแจ ที่ช่วยให้แฟน ๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น สินค้า CHIIKAWA x Chow Tai Fook ที่ถึงกับมีคนต่อคิวแน่นร้านในฮ่องกง ขณะที่ไลน์สินค้าเครยอนชินจัง, ดิสนีย์ หรือแม้แต่ซีรีส์จีนอย่างเจินหวนจ้วน (ซีรีส์จอมนางคู่แผ่นดิน) ก็ขายดีถล่มทลาย 

“ทองคำ” สนองอารมณ์คนยุคใหม่ 

ไม่เพียงแค่ซื้อเก็บ คนรุ่นใหม่ยัง DIY ทองคำให้กลายเป็นเครื่องราง, สร้อยข้อมือ, ของขวัญ หรือเครื่องแสดงออกทางอารมณ์ เช่นเดียวกับ “Pain Gold” ที่ผู้เล่นเกมจีบหนุ่ม อย่าง Love and Deepspace และ Tears of Themis รวมกลุ่มกันสั่งทำทองคำแบบพิเศษ ซึ่งมีทั้งคุณค่าทางอารมณ์และมูลค่าทางการเงิน 

แม้ราคาทองบางชิ้นเมื่อคำนวณต่อกรัมจะสูงลิ่ว เช่น “ทองคำเจินหวนจ้วน” หนักเพียง 0.002g แต่ขายในราคา 59 หยวน (ราว 271 บาท) คิดเป็นราคาทองถึง 30,000 หยวน (ราว 1.38 แสนบาท) ต่อกรัม ทว่าผู้บริโภคกลับมองเป็น “การซื้อคุณค่าทางใจ” มากกว่าลงทุน 

ทองคำผสาน IP คือโอกาสใหม่ในตลาด 

ในขณะที่ยอดขายรวมของแบรนด์ทองคำอย่าง Lao Feng Xiang, Chow Tai Fook (周大福) และ Chow Sang Sang (周生生) ต่างลดลงราว 15-20% แต่สินค้าที่ใช้กลยุทธ์จับคู่ตัวละครลิขสิทธิ์ หรือ IP กลับขายดีสวนทาง แม้จะยังเป็นสัดส่วนเล็ก (เช่น Chow Tai Fook ขายสินค้าประเภทนี้เพียง 5% ของทั้งหมด) แต่มีอัตราการเติบโตเกิน 100% และสร้างการพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง 

ยกตัวอย่างเช่นร้าน Chow Sang Sang เปิด “ร้านธีม DIMOO” กลางห้าง พร้อมจัดอีเวนต์หาแสตมป์ เล่นเกม ฯลฯ หรือแบรนด์อย่าง MONOLOGUE ที่ทำแคมเปญกับดาบพิฆาตอสูรจนยอดเข้าร้านเพิ่ม 6 เท่า และการพูดถึงในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น 8 เท่า 

จากของหมั้นสู่ไอเทมแฟชั่น 

ปัจจุบัน ทองคำไม่ได้อยู่แค่ในกล่องเครื่องประดับของเจ้าสาว แต่ยังปรากฏในกระเป๋าเป้ของแฟนเกม บนมือถือของวัยรุ่น และในชั้นโชว์ของนักสะสม แบรนด์ใหญ่ปรับกลยุทธ์เร็ว จากดิสนีย์จนถึงดาบพิฆาตอสูร จากความหรูหราไปสู่วัฒนธรรมป๊อปที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ 

ความนิยมในยุคใหม่กำลังทำให้ “ทองคำ” ในจีน เปลี่ยนบทบาทจากของมีค่าในตู้นิรภัย ไปสู่ “เครื่องมือแสดงออกทางอารมณ์” ที่สร้างความสุข บ่งบอกตัวตน และยังมีคุณค่าทางการเงินควบคู่กันไป 

เรียกได้เลยว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและกระตุ้นยอดสั่งผลิตในประเทศได้อย่างมหาศาล

ขอบคุณข้อมูล : Jeenthainews – จีนไทยนิวส์