มันกลับมาแล้ว! โรคราสนิมในหม่อนไหม อย่าลืมดูแลต้นหม่อนของคุณให้ดี

เตือนแล้วนะ! มันกลับมาอีกแล้ว โรคราสนิมในหม่อนไหม อย่าลืมดูแลต้นหม่อนของคุณให้ดี ก่อนเชื้อจะกินทั้งสวน

อย่าลืมดูแลหม่อนของคุณให้ดี ช่วงปลายฤดูฝน เข้าสู่ฤดูหนาวที่ไรโรคราสนิมมาอีกแล้วจ้า

ล่าสุดวันนี้ (4 พ.ย. 64) นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยกับทีมข่าวจันลั่นทุ่ง ว่า ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น และมีความชื้น ทำให้ศัตรูตัวสำคัญของหม่อนกลับมาอีกแล้ว นั่นก็คือ โรคราสนิมในหม่อน ที่ตอนนี้กำลังระบาดหนักใน จ.น่าน เชียงราย และพะเยา ทำให้เกิดความเสียหายกับแปลงหม่อนในพื้นที่นั้น จึงได้มีการสั่งให้ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จ.น่าน ดูแล พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกษตรกรที่ปลูกหม่อนไหม เพื่อลดความเสียหาย

โรคราสนิมเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นประจำทุกปีพื้นที่ของภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ในช่วงนี้ เพราะเชื้อราชนิดนี้จะแพร่กระจายได้ง่าย จึงให้เกษตรกรดูแลหม่อนที่ตัวเองเลี้ยงอย่างใกล้ชิด และให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของใบหม่อน เมื่อเนื้อเยื่อใบหม่อนถูกทำลายและแตกออกจะเห็นสปอร์ของเชื้อรามีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลปนแดงคล้ายสนิมอยู่บนตุ่มแผล กระจัดกระจายทั่วไปด้านใต้ใบ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบหม่อนมีสีเหลืองทั้งใบและแห้งเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น

แต่วิธีการป้องกัน และกำจัดโรคนี้ สามารถทำได้โดยการ ใช้วิธีผสมผสานในการบริหารจัดการแปลงหม่อน ตั้งแต่การเลือกปลูกหม่อนพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคราสนิม เช่น พันธุ์สกลนคร และพันธุ์ศรีสะเกษ 84 และปลูกแบบแถวเดี่ยว เพื่อเว้นระยะห่างให้กับต้นหม่น ระยะห่างระหว่างแถวไม่น้อยกว่า 2 เมตร ควรตัดแต่งกิ่งให้ดูโปร่ง และไม่ปล่อยใบให้เกิน 3 เดือน และควรพ่นสารไตรอะดิมิฟอล หรือกำมะถัน ให้เว้นระยะการเก็บใบหม่อน ซึ่งระยะที่ปลอดภัยคือ 10 – 15 วัน จึงสามารถนำเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหมได้

เกษตรกรหม่อนไหมที่มีปัญหาเกี่ยวกับ โรคราสนิมในใบหม่อนหรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถปรึกษาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์หม่อนไหมฯ เครือข่าย ใกล้บ้าน