ระวังเกษตรไทยตาย! หากเปิดให้สหรัฐฯ ขายสินค้าเกษตรในไทยเต็มรูปแบบ

ระวังภาคเกษตรไทยจะถูกทำลาย หากรัฐบาลเปิดประเทศให้สหรัฐฯ สามารถนำสินค้าเกษตรเข้าไทยได้อย่างเต็มรูปแบบ

คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว

รัฐบาลไทยควรพิจารณาข้อเสนอที่ให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างถี่ถ้วนเพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ทบทวนการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 36% โดยข้อเสนอดังกล่าวต้องไม่ทำลายภาคเกษตรไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลัง (Backbone Industries) ของประเทศ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับภาคส่วนอื่นๆ อันได้แก่ ปัญหาด้านความมั่นคงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฐานทัพเรือของไทยในการสนับสนุนและส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ และปัญหาความขัดแย้งกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเทศไทยยังควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และหลีกหนีจากประเทศที่เน้นแค่เพียงค่าแรงและต้นทุนการผลิตถูก รวมถึง การลงทุนและปรับปรุงโดรงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงหรือภาคการผลิตจริง (Real Sector) ได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลยังควรกำหนดฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) เป็นฐานในการกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และส่งออก เป็นต้น

โดยภาคการเกษตรของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ มีพื้นที่และแรงงานในภาคเกษตรจำนวนมาก ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน  149.75 ล้านไร่ คิดเป็น 46.69% ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังพึ่งพาการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้นเป็นหลักโดยคิดเป็น 87.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง รายได้ของเกษตรกรไม่แน่นอน รวมถึงอาจถูกตัดราคาจากสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศจีน หรือสหรัฐฯ

หากรัฐบาลมีการเปิดประเทศให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านั้นอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ไทยต้องเสนอข้อแลกเปลี่ยนกับทางสหรัฐฯ ซึ่งอาจรวมถึงการเปิดประเทศให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ การปฏิรูปภาคเกษตรของไทยจึงควรมุ่งเน้นที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร และการพัฒนาบุคลากรทางการเกษตรอย่างเท่าเทียม

การจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาลจากการใช้เงินงบประมาณส่วนใหญ่เพื่อเยียวยาไปสู่การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน เปิดโอกาสให้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบชลประทานและคมนาคม เป็นต้น

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งจดหมายถึงรักษาการนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมายืนยันตัวเลขภาษีนำเข้าเดิมที่ 36% ที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน ในวันปลดแอกสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่าวัน Liberation Day สะท้อนว่าความพยายามของรัฐบาลไทย นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังมีเวลาในการปรับปรุงข้อเสนอให้กับสหรัฐฯ ที่ได้ขยายเส้นตายในการบังคับใช้ภาษีนำเข้าดังกล่าวไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ซึ่งยังคงมีเวลาให้รัฐบาลไทยเจรจาภายใต้ข้อเสนอใหม่อีกเพียงประมาณอาทิตย์เดียวเท่านั้น

ประเด็นสำคัญก็คือ หากประเทศไทยยังถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม ที่เป็นประเทศคู่แข่งโดยตรงด้านการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะกับประเทศคู่แข่งทางการส่งออกในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ที่จะต้องมีการลดจำนวนแรงงานอย่างมหาศาล มีผลทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบเป็นโดมิโนทำให้กำลังซื้อภายในประเทศจะลดต่ำลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น และทำให้ธุรกิจหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยและรายกลาง ประสบปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดทุนและจะต้องปิดตัวลงในท้ายที่สุด สุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่รุมเร้ารัฐบาลแพทองธารอยู่ในปัจจุบัน นอกเหนือจากปัญหาเชิงเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะเงินฝืดภายในประเทศ ปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาข้อพิพาทชายแดนกับประเทศกัมพูชา เป็นต้น

วิกฤตการณ์เหล่านี้ต้องการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละประเด็นเข้ามาแก้ไขและกำหนดแนวทางที่ประเทศจะดำเนินไปเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงมีระบบการเมืองที่มีความโปร่งใส มีเสถียรภาพ บ้านเมืองมีความมั่นคงถาวร ลบภาพการเมืองแบบเก่าที่นักการเมืองเข้ามาสู่ระบบการเมืองเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล โดยประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการของปฏิบัติการต่างๆ ทางการเมือง

ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี